สิริธรรมกาย :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

สิริธรรมกาย

สิริธรรมกาย

ขยายความหลักฐานธรรมกาย โดย พระมหาสมเกียรติ วรยโส (ป.ธ.๙)

คำว่า "ธรรมกาย" ในพระคัมภีร์อรรถกถา ขุททกนิกาย (เมตตชิเถรคาถา) ชื่อ ปรมัตถทีปนี ภาค ๑ เล่มที่ ๓๒ ข้อ ๙๔ หน้า ๓๐๔ ว่า

อรหตฺตํ ปน ปตฺวา สตฺถารํ โถเมนฺโต : - นโม หิ ตสฺส ภควโต สกฺยปุตฺตสฺส สิรีมโต เตนายํ อคฺคปฺปตฺเตน อคฺคธมฺโม สุเทสิโตติ ฯ คาถํ อภาสิ. ตตฺถ นโมติ นมกาโร. หีติ นิปาตมตฺตํ. ตสฺสาติ โย โส ภควา สมตึสปารมิโย ปูเรตฺวา สพฺพกิเลเส ภญฺชิตฺวา อนุตฺตรํ สมฺมาสมฺโพธึ อภิสมฺพุทฺโธ, สกฺยราชสฺส ปุตฺโตติ สกฺยปุตฺโต. อนญฺญสาธารณาย ปุญฺญสมฺปตฺติยา จ สมฺภาวิโต อุตฺตมาย รูปกายสิริยา ธมฺมกายสิริยา จ สมนฺนาคตตฺตา สิรีมา, ตสฺส ภควโต สกฺยปุตฺตสฺส สิรีมโต นโม อตฺถุ, ตํ นมามีติ อตฺโถ.

แปลว่า : ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อจะชื่นชมพระบรมศาสดาได้กล่าวคาถาว่า "ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคศากยบุตร ผู้มีพระสิริพระองค์นั้น พระองค์ผู้ถึงแล้วซึ่งธรรมอันสูงสุด ได้ทรงแสดงอัครธรรม นี้ไว้ด้วยดี ดังนี้ ฯ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นโม ได้แก่ ทำการนอบน้อม บทว่า หิ เป็นเพียงนิบาต บทว่า ตสฺส ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นใด ทรงบำเพ็ญบารมีมาครบ ๓๐ ทัศ ทรงหักกิเลสทั้งปวง แล้วตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ชื่อว่าเป็นศากยบุตร เพราะเป็นบุตรของพระเจ้าศากยะ ทรงเจริญแล้วด้วยบุญสมบัติ อันไม่สาธารณ์ทั่วไปแก่สัตว์อื่นและชื่อว่า ผู้มีพระสิริ เพราะประกอบไปด้วยสิริคือ พระรูปกาย และสิริคือ ธรรมกาย อันสูงสุด ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นศากยบุตรผู้มีพระสิริพระองค์นั้น ความว่า ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ฯ ขยายความ : คาถานี้เป็นการกล่าวของท่านพระเมตตชิเถระ หลังจากที่ท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ได้กล่าวแสดงความนอบน้อมชมเชยพระสิริคือความงดงามของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเป็นพระคุณลักษณะประการอนึ่งในภคธรรม ๖ ประการของพระผู้มีพระภาคเจ้าดังที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาสมันตปาสาทิกาเป็นต้นว่า "อนึ่ง เพราะ ภค ศัพท์ ย่อมเป็นไปในธรรม ๖ ประการ คือ ความเป็นใหญ่ ธรรม ยศ สิริ กามะ และความเพียร"

พระสิริของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมี ๒ ประการ คือ

๑. สิริ คือ ความงดงามของพระรูปกายอันยอดเยี่ยมหาผู้เปรียบปานมิได้ เพราะประกอบไปด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ และอนุพยัญชนะคือลักษณะพิเศษแห่งอวัยวะส่วนย่อยๆ อีก ๘๐ ประการเป็นต้น อันเกิดแต่การสั่งสมบุญบารมีมาอย่างบริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นที่ดึงดูดนัยนาคือดวงตา (ตาเนื้อ) ของชาวโลกผู้เป็นรูปัปมาณิกา เลื่อมใสในพระรูปกายของพระองค์ ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาสมันตปาสาทิกา เป็นต้น ว่า

"พระสิริแห่งพระอังคาพยพ (อวัยวะ) น้อยใหญ่ทุกส่วน บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง สามารถยังความเลื่อมใสแห่งดวงตาและดวงใจของชนผู้ขวยขวายในการดูพระรูปกายให้บังเกิด"

๒. สิริ คือ ความงดงามของพระธรรมกายอันสูงสุด ที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนีกล่าวไว้ว่า ประดุจรูปพระพุทธปฏิมากร เกตุดอกบัวตูม ใสเหมือนกระจกคันฉ่องส่องหน้า มีพระรัศมีสว่างไสวหาประมาณมิได้ งามยิ่งนักหาผู้เสมอเหมือนได้ยาก และทรงไว้ซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการเป็นต้นเหมือนพระรูปกาย แต่ทรงไว้ซึ่งพระคุณานุภาพภายในอันไม่สาธารณ์ทั่วไปแด่พระธรรมกายของพระปัจเจกพุทธะและพระสาวกพุทธะทั้งหลาย มี พระทศพลญาณเป็นต้น อันพระอริยสาวกจะพึงเห็นได้ด้วยปัญญาจักษุเท่านั้น ที่ตนแทงตลอดด้วยอริยมรรค เมื่อเห็นแล้วย่อมเป็นผู้มีความเลื่อมใสอันไม่คลอนแคลน อันเป็นความเลื่อมใสที่แท้จริง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกอบด้วยพระสิริ ๒ ประการดังกล่าวข้างต้น จึงหาผู้เสมอเหมือนมิได้ด้วยพระสิริทั้งสองประการ แต่ทรงเป็นผู้เสมอกันกับด้วยพระผู้มีพระภาคในปางก่อนทั้งหลาย ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาอัคคัปปสาทสูตร ในขุททกนิกาย อิติวุตตกะ (๒๖/๙๐/๓๒๐) ว่า

"เย ปน ปุริมกา สมฺมาสมฺพุทฺธา สพฺพสตฺเตหิ อสมา. เตหิ สทฺธึ อยเมว รูปกายคุเณหิ เจว ธมฺมกายคุเณหิ จ อสมสมฏฺเฐนปิ อคฺโค ฯ แปลความว่า พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าเป็นผู้ล้ำเลิศ แม้โดยความหมายว่า ไม่มีผู้เสมอเหมือน เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้เอง เป็นผู้เสมอโดยพระคุณทางรูปกาย และพระคุณทางธรรมกายกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน ผู้ไม่เสมอเหมือนกับสรรพสัตว์ ฯ

ดังนั้น พระอริยสาวกผู้มีปัญญาจักษุ เพราะเห็นธรรมด้วยธรรมกายแล้ว เมื่อจะทำการนอบน้อม อภิวันทนาการชมเชยพระสิริแห่งพระผู้มีพระภาค ย่อมมุ่งหมายชมเชยพระสิริทั้ง ๒ ประการ ต่างจากปุถุชนผู้ไม่เห็นธรรม ปราศจากปัญญาจักษุ ย่อมกล่าวชมเชยได้เฉพาะพระสิริแห่งพระรูปกายเท่านั้น เพราะเหตุนั้น ในขุททกนิกาย เถรคาถา ท่านพระเมตตชิเถระ เมื่อบรรลุพระอรหัตแล้วจึงกล่าวชมเชยพระสิริแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

"นโม หิ ตสฺส ภควโต สกฺยปุตฺตสฺส สิรีมโต" แปลความว่า ข้าพระพุทธเจ้า ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ศากยบุตร ผู้ประกอบด้วยพระสิริคือความงามแห่งพระรูปกายและพระธรรมกาย พระองค์นั้น ฯ

ดังนั้น ท่านผู้มีปรีชาญาณทั้งหลายผู้ฉลาดในอรรถแห่งพระธรรม เมื่ออ่านพบเจอข้อความเกี่ยวกับการชมเชยพระสิริแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย ณ ที่ใดในคัมภีร์พระพุทธศาสนาซึ่งมีมากมายหลายแห่งดังในคัมภีร์ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (๑๑/๒๐๙/๑๗๕) เป็นต้นว่า

ขอนอบน้อมแด่พระวิปัสสีพุทธเจ้า ผู้มีพระจักษุ มีพระสิริ ... พระอังคีรสพุทธเจ้า ผู้ศากยบุตร ผู้มีพระสิริ"

ดังนี้เป็นต้น จึงพึงเข้าใจเถิดว่า ท่านมุ่งหมายเอาสิริทั้งสองประการดังกล่าวมา ดังท่านพระอรรถกถาจารย์เจ้าไขความดังข้างต้นว่า

"อุตฺตมาย รูปกายสิริยา ธมฺมกายสิริยา จ สมนฺนาคตตฺตา สิริมา."

ซึ่งแปลความว่า "ผู้มีพระสิริ เพราะประกอบด้วยพระสิริแห่งพระรูปกาย และพระสิริคือความงดงามแห่งพระธรรมกายอันสูงสุด" ดังพรรณนามาฉะนี้แล ฯ

คำค้น
1
บทความอื่นๆในหมวดนี้