ธรรมกาย พระนามของตถาคต :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

ธรรมกาย พระนามของตถาคต

ธรรมกายพระนามของตถาคต

ขยายความหลักฐานธรรมกาย โดย พระมหาสมเกียรติ วรยโส (ป.ธ.๙)

คำว่า "ธรรมกาย" ในอรรถกถาทีฆนิกาย ชื่อสุมังคลวิลาสินี ภาค ๓ ฉบับมหาจุฬาฯ ข้อ ๑๑๘ หน้า ๕๐ ซึ่งขยายความในอัคคัญสูตร ปาฏิกวรรคว่า

ตตฺถ "ธมฺมกาโย อิติปิ"ติ กสฺมา ตถาคโต "ธมฺมกาโย"ติ วุตฺโต. ตถาคโต หิ เตปิฏกํ พุทฺธวจนํ หทเยน จินฺเตตฺวา วาจาย อภินีหริ. เตนสฺส กาโย ธมฺมมยตฺตา ธมฺโมว. อิติ ธมฺโม กาโย อสฺสาติ ธมฺมกาโย. ธมฺมกายตฺตาเอว พฺรหฺมกาโย. ธมฺโม หิ เสฏฺฐฏฺเฐน พฺรหฺมาติ วุจฺจติ. ธมฺมภูโตติ ธมฺมสภาโว. ธมฺมภูตตฺตาเอว พฺรหฺมภูโต.

แปลว่า : คำว่า ธมฺมกาโย อิติปิ ความว่า เพราะเหตุไร พระตถาคตจึงได้รับขนานนามว่า ธรรมกาย. เพราะพระตถาคตทรงคิดพระพุทธพจน์คือพระไตรปิฎกด้วยพระหทัยแล้ว ทรงนำออกแสดงด้วยพระวาจา.ด้วยเหตุนั้น พระวรกายของพระผู้มีพระภาคจึงจัดเป็นธรรมแท้ เพราะสำเร็จด้วยธรรม. พระธรรมเป็นกายของพระผู้มีพระภาคนั้นดังพรรณนามานี้ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงชื่อว่า ธรรมกาย. ชื่อว่า พรหมกาย เพราะมีธรรมเป็นกายนั่นเอง แท้จริง พระธรรมท่านเรียกว่า พรหม เพราะเป็นของประเสริฐ.

บทว่า ธมฺมภูโต ได้แก่สภาวธรรม ชื่อว่า พรหมภูต เพราะเป็นผู้เกิดจากพระธรรมนั่นเอง.

ขยายความ : ในอรรถกถาแห่งพระสูตรนี้ พระอรรถกถาจารย์ได้ตั้งเป็นคำถามว่า เพราะเหตุไร ? พระตถาคตจึงได้ทรงขนานพระนามของพระองค์เองทีเดียวว่า ธรรมกาย (อันเกิดด้วยคุณธรรมวิเศษนิรมิต มิต้องให้ผู้ใดตั้งให้ ). แล้วจึงได้กล่าวแก้เองว่า เพราะพระองค์ทรง คิด พระพุทธพจน์คือพระไตรปิฎกด้วยพระหทัยแล้ว จึงทรงแสดงธรรมด้วยพระวาจา เป็นต้น ในความตอนนี้ผู้เขียนจะได้ประมวลความจากพระสูตรอื่นและจากครูธรรมกายมาขยายความต่อไป

ธรรมดา ความรู้ธรรมของปุถุชน (ทั้งมนุษย์และเทวดา) ย่อมเกิดจากอายตนะภายในกับอายตนะภายนอกของกายมนุษย์ หรือกายทิพย์กระทบกัน อาศัยวิญญาณ จึงเกิดความรู้แจ้งรวมลงที่ใจ เมื่อเกิดการปรุงแต่งขึ้น จึงเรียกว่า "คิด" แต่เนื่องจากเป็นผู้มีจิตไม่มั่นคง(ไม่มีสมาธิ) เพราะถูกมลทินคือกิเลสครอบงำเอา ความรู้ที่ได้จากการคิดจึงเป็นเพียง วิญญาณรู้ มิใช่รู้ด้วยญาณ ปัญญาก็ย่อมไม่บริบูรณ์ จึงหารู้พระสัทธรรมไม่ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในคาถาธรรมบท ( ๒๕/๑๓/๑๙) ว่า

ปัญญา ย่อมไม่บริบูรณ์ แก่ผู้มีจิตไม่มั่นคง ผู้ไม่รู้แจ้งพระสัทธรรม มีความเลื่อมใสเลื่อนลอย ฯ

และในคาถาธรรมบท (๒๕/๓๕/๖๕) ว่า

ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน (ไม่มีสมาธิ)" ดังนี้ เป็นต้น

เมื่อมีเพียงปัญญาที่ได้จากการนึกคิดธรรมะด้วยวิญญาณรู้ของกายมนุษย์และกายทิพย์เท่านั้น ไม่มีปัญญารู้เห็นธรรมที่เกิดจากสมาธิภาวนามยญาณ และเมื่อท่านผู้มีมลทินเหล่านั้นนำธรรมะที่ได้จากการคิดมาแสดงแก่ผู้อื่น จึงผิดมากกว่าถูก เพราะเป็นของไม่บริสุทธิ์ ดังที่ท้าวสหัมบดีพรหมได้กราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงแสดงธรรมที่ท่านกล่าวไว้ในพรหมยาจนกถา (วินย.มหา.ปฐมภาค ๔/๘/๑๓) ว่า

"ธรรมที่คนมีมลทินทั้งหลายคิดแล้ว ไม่บริสุทธิ์ได้ปรากฏ ในแคว้นมคธมาก่อนแล้ว ขอพระองค์ได้โปรดทรงเปิดประตู แห่งอมตธรรมนี้" ดังนี้ เป็นต้นฯ

อนึ่ง แม้ปัญญาในการรู้เห็นธรรมที่เกิดจากสมาธิภาวนามยญาณของท่านผู้ได้โลกียฌานก็ดี (ทั้งมนุษย์และเทวดา) ของพวกกายพรหม กายอรูปพรหมผู้มิได้เป็นพระอริยเจ้าก็ดี ก็ยังอยู่ในวงจำกัด ท่านเหล่านั้นอาศัยอายตนะที่เป็นโลกียะ ยังถูกกิเลสอย่างละเอียดในส่วนโลกิยะครอบงำปรุงแต่งอยู่ จึงรู้เห็นได้เฉพาะโลกิยธรรมเท่านั้น ไม่สามารถรู้เห็นโลกุตรธรรม จึงมิได้ชื่อว่า ธรรมกาย

ส่วนปัญญาจักษุ ในการรู้เห็นธรรมของพระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระนามว่า ธรรมกาย นั้น เกิดจากสมาธิภาวนามยญาณอันเป็นโลกุตระ จึงรู้เห็นธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริงได้ ดังคราวเริ่มแรกแห่งการตรัสรู้ใหม่ พระองค์ทรงนั่งขัดสมาธิบัลลังก์เดียว มนสิการปฏิจจสมุปบาทแล้วทรงเปล่งอุทานในเวลานั้นว่า (วินย.มหา.ปฐมภาค ๔/๑/๒)

"เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไป เพราะมา รู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ" ดังนี้ เป็นต้น ฯ

ก็เพราะเหตุที่ธรรมทั้งหลายที่พระองค์ได้ตรัสรู้มีสภาพละเอียด เห็นได้ยาก ไม่ได้ด้วยการนึกคิดเอา (แบบวิญญาณรู้เพราะอาศัยอายตะของกายมนุษย์กายทิพย์) หรือรู้ด้วยญาณของพวกกายพรหม กายอรูปพรหม แต่รู้ได้เฉพาะด้วยโลกุตรญาณของธรรมกาย พระองค์จึงเกิดความปริวิตกดังที่ตรัสไว้พรหมยาจนกถา (วินย.มหา.ปฐมภาค ๔/๗/๑๒) ว่า

"ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ เป็นคุณลึก เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบ ประณีต ไม่หยั่งลงสู่ความนึกคิด ละเอียด เป็นวิสัยที่บัณฑิตจะพึงรู้แจ้ง...อันหมู่สัตว์ผู้เริงรมย์ด้วยอาลัย(กามคุณ ๕) ยินดีในอาลัย ชื่นชมในอาลัย เห็นได้ยาก ดังนี้เป็นต้น จนเป็นเหตุให้มีพระทัยน้อมไปเพื่อความเป็นผู้ขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อทรงแสดงธรรม" ดังมีปรากฏในอนัจฉริยคาถา (วินย.มหา.ปฐมภาค 4/7/12) ว่า "บัดนี้ เรายังไม่ควรจะประกาศธรรมที่เราได้บรรลุแล้วโดยยาก เพราะธรรมนี้อันสัตว์ผู้อันราคะและโทสะครอบงำแล้วไม่ตรัสรู้ได้ง่าย สัตว์ผู้อันราคะย้อมแล้ว ถูกกองอวิชชาหุ้มห่อแล้ว จักไม่เห็นธรรมอันละเอียดลึกซึ้ง ยากที่จะเห็น ละเอียดยิ่ง อันจะยังสัตว์ให้ถึงธรรมที่ทวนกระแส คือ นิพพานฯ"

จากข้อความที่ยกมากล่าวข้างต้น จึงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า คำว่า "คิด" ที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ในที่นี้ ท่านจึงมิได้หมายเอาความคิดอย่างปุถุชนเป็นต้นดังที่กล่าวมาแล้ว ทั้งนี้เพราะเหตุไร ? เพราะพระองค์มิใช่ปุถุชน แต่ทรงเป็นอริยชนชั้นยอด เพราะตรัสรู้ธรรมด้วยธรรมกาย ทรงเป็นธรรมภูต คือเป็นธรรมเป็น ๆ เอง ไม่ใช่เป็นธรรมตายที่อยู่ในตำรา ทรงเป็นธรรมสามี คือเจ้าของแห่งธรรม ไม่ต้องทรงค้นคว้าเอาจากตำรา หรือจากการฟังการสอบถามจากผู้อื่นเป็นต้น ดังนั้น ธรรมทั้งปวง มิใช่แต่เฉพาะพระไตรปิฎกเท่านั้น ย่อมปรากฏแก่พระองค์ ผู้ตรัสรู้แล้ว มีธรรมปรากฏแล้วตั้งแต่คราวแรกแห่งการตรัสรู้ เมื่อทรงพระประสงค์ธรรมอันใด ธรรมนั้นๆย่อมปรากฏแจ่มแจ้งแก่พระองค์ด้วยพระญาณพลันทีเดียว ดังที่ท่านกล่าวไว้ใน ตุวฏกสูตร (ขุ.มหานิ 29/320/168) ว่า

"พระญาณของพระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ย่อมเป็นไปในธรรมทั้งสิ้น ธรรมทั้งปวง เนื่องด้วยความนึก เนื่องด้วยความจำนงค์หวัง เนื่องด้วยการทำไว้ในใจ เนื่องด้วยการกระดิกจิต (จิตตุบาท) แห่งพระผู้มีพระภาค ผู้ตรัสรู้แล้ว พระญาณของพระผู้มีพระภาค ผู้ตรัสรู้แล้ว ย่อมเป็นไปในสัตว์ทั้งปวง พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบอัธยาศัย อนุสัย จริต อธิมุติ แห่งสัตว์ทั้งปวง ย่อมทรงทราบซึ่งเหล่าสัตว์ผู้มีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักขุ มีกิเลสธุลีมากในญาณจักขุ มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม ผู้ควรแนะนำได้โดยง่าย ผู้แนะนำได้โดยยาก เป็นภัพพสัตว์ เป็นอภัพพสัตว์ โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมเป็นไปในภายในพระพุทธญาณ" ดังนี้ เป็นต้น

ฉะนั้น เมื่อมีผู้มาทูลถามปัญหา พระองค์จึงทรงสามารถพยากรณ์ปัญหา (ตอบ) ได้ทันที โดยไม่ต้องรอไปค้นคว้าธรรมในที่อื่น ที่มีอยู่ในตำราเป็นต้น หรือนึกคิดเอาล่วงหน้า ดังที่ท่านกล่าวไว้ใน อภัยราชกุมารสูตร (ม.ม.๑๓) ว่า

"อภัยราชกุมารกราบทูลถามว่า มีผู้แต่ปัญหามาทูลถาม พระผู้มีพระภาคจะต้องทรงคิดก่อนหรือไม่ว่า ถ้าเขาถามอย่างนี้จักตรัสตอบอย่างนี้ หรือว่าเรื่องนั้นแจ่มแจ้งแก่พระตถาคตโดยพลันทันที. ตรัสย้อนถามว่า ท่านเป็นผู้ฉลาดในส่วนประกอบน้อยใหญ่ของรถใช่หรือไม่ กราบทูลว่าฉลาดในส่วนประกอบของรถ. ตรัสถามต่อไปว่า เมื่อมีผู้มาถามว่า นี้เป็นส่วนประกอบน้อยใหญ่อะไรของรถ ท่านจะต้องคิดก่อนหรือไม่ว่า ถ้าเขาถามอย่างนี้ จักตอบอย่างนี้ หรือว่าเรื่องนั้นแจ่มแจ้งแก่ท่านโดยพลันทันที. กราบทูลตอบว่า ข้าพระองค์เป็นช่างทำรถ รู้เจนจบในส่วนประกอบน้อยใหญ่ของรถ เรื่องนั้นจึงแจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์โดยพลันทีเดียว. จึงตรัสว่า แม้ตถาคตก็ฉันนั้น เพราะความที่ธรรมธาตุนั้น ตถาคตแทงตลอดดีแล้ว การตอบปัญหานั้น จึงแจ่มแจ้งกะตถาคตโดยทันที"

อนึ่ง พระพุทธพจน์ที่มาในพระไตรปิฎก เกิดขึ้นด้วยอัธยาศัยของพระองค์บ้าง อัธยาศัยของเหล่าสัตว์บ้าง เกิดเพราะเกิดเหตุขึ้นบ้าง และเกิดขึ้นด้วยการถามบ้าง พระองค์ทรงอาศัยพระญาณเครื่องพิจารณาของกายธรรม จึงทรงบัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผยตามเหตุเกิดนั้น ๆ ด้วยพระวาจา ฉะนั้นคำว่า "คิดพุทธพจน์" ในที่นี้พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวหมายเอาพระญาณนั้น ดังที่ท่านกล่าวไว้ใน อรรถกถานาคสูตร อังคุตตรนิกาย ชื่อมโนรถปูรณี (ไทย มหามกุฏ.เล่ม ๓๖/๖๕๔) ว่า

"นาค คือ ช้าง ชื่อว่า มีปลายงวงเป็นเครื่องพิจารณา ช้างนั้นพิจารณาถึงสิ่งที่แข็ง อ่อน และสิ่งของที่ควรเคี้ยวกินด้วยปลายงวงนั้น ต่อแต่นั้นก็ละสิ่งของที่ควรละ คว้าเอาสิ่งของที่ควรคว้า ฉันใด การคิดถึงธรรม กล่าวคือ ญาณเครื่องกำหนดส่วนแห่งธรรม ชื่อว่าเป็น วีมํสา (ญาณเครื่องพิจารณา) ของนาค คือ พระพุทธเจ้า ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะว่าพระพุทธเจ้านั้นทรงรู้จักภัพพาภัพพบุคคล (ผู้ควรตรัสรู้และไม่ควรตรัสรู้) ด้วยญาณนั้น ด้วยเหตุนั้น พระกาฬุทายีเถระ จึงกล่าวว่า วีมํสา ธมฺมจินฺตนา"

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงรู้ทรงทราบ ทรงใคร่ครวญธรรมคือพระไตรปิฎกด้วยโลกุตรญาณของโลกุตรกายนั้น จึงทรงประกาศธรรมทั้งปวงได้ด้วยพระวาจา ยังสรรพสัตว์ให้ตรัสรู้ตามสมควรแก่อัธยาศัย เหตุนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า "ธรรมกาย"

ข้อว่า พระวรกายของพระผู้มีพระภาคจัดเป็นธรรมแท้ เพราะสำเร็จด้วยธรรม ดังนี้ ท่านหมายเอาบารมีธรรมที่พระองค์ทรงบำเพ็ญมานับภพนับชาติมิถ้วน จัดเป็นโลกุตรกุศลธรรมที่ทำให้เกิดโลกุตรกาย ที่เรียกว่า "ธรรมกาย" ที่มีญาณรู้เห็นธรรมทั้งปวงได้ (ท่านมิได้หมายเอาโลกียกุศลธรรม คือบุญ ที่ให้เกิดโลกียกาย รู้เห็นได้เฉพาะโลกียธรรม จึงยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป) บารมีธรรมเป็นธรรมที่ให้สำเร็จเป็นกายของพระผู้มีพระภาคนั้น ดังพรรณนามานี้ ฉะนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า "ธรรมกาย"

คำว่า พรหมกาย ในที่นี้พระอรรถกถาจารย์ท่านมิได้หมายเอา กายของพวกพรหม อันเป็นกายละเอียดส่วนโลกียะมีอันต้องแปรปรวนไปเป็นธรรมดา เพราะทรงป้องกันความเข้าใจผิดแต่แรกแล้วด้วยคำแรกคือคำว่า "ธรรมกาย" ฉะนั้นท่านจึงมุ่งหมายเอากายธรรมอันเป็นโลกุตระ ซึ่งสำเร็จมาแต่ธรรมอันประเสริฐ คือ บารมีธรรมที่ทรงบำเพ็ญมานับภพนับชาติมิถ้วน จึงกล่าวว่า "พรหมกาย"

คำว่า ธรรมภูต ที่ท่านกล่าวว่า สภาวธรรม หมายถึง อริยสภาวะ คือเข้าถึงสภาวะอันประเสริฐ ไม่มีการผันแปรดับสลายอีกต่อไป

ส่วนในอรรถกถาสังยุตตนิกาย ชื่อ สารัตปกาสินี ภาค ๒ ฉบับมหาจุฬาฯ ข้อ ๘๗ หน้า ๓๔๒ - ๓๔๓ ซึ่งขยายความในวักกลิสูตร ว่า

โย โข วกฺกลิ ธมฺมนฺติ อิธ ภควา "ธมฺมกาโย โข มหาราช ตถาคโต" ติ วุตฺตํ ธมฺมกายตํ ทสฺเสติ ฯ นววิโธ หิ โลกุตฺตรธมฺโม ตถาคตสฺส กาโย นาม ฯ

แปลว่า : ในบทว่า โย โข วกฺกลิ ธมฺมํ นี้ พึงทราบอธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระองค์เองว่า เป็นธรรมกาย ที่ตรัสไว้ว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร ธรรมกายแล คือ พระตถาคต ความจริง โลกุตรธรรม ๙ อย่าง (มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑) ชื่อว่า พระกายของพระตถาคต ฯ

ขยายความ : พระสูตรนี้ พระอรรถกถาจารย์ขยายความในบทว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ด้วยบทว่า พระตถาคตเจ้าองค์ที่แท้จริง คือ ธรรมกาย ในความตอนนี้มีข้อที่น่าวินิจฉัย ๒ ประการ คือ

ประการแรก ท่านมุ่งหมายเอา สภาพที่เนื่องเป็นอันเดียวกันแยกกันไม่ได้ แต่จะว่าเป็นสิ่งเดียวกันเลยทีเดียวก็ไม่ได้ โดยมีอธิบายว่า เพราะอาศัยธรรมกาย พระสิทธัตถะโพธิสัตว์จึงตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมพุทธเจ้าได้ และเพราะอาศัยพระสัมพุทธเจ้า ธรรมทั้งปวงจึงถูกบัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย ให้สรรพสัตว์ตรัสรู้ตามได้ โดยนัยนี้ก็จะได้ความว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้น ชื่อว่า เห็นธรรมกาย ผู้ใดเห็นธรรมกาย ผู้นั้น ชื่อว่าเห็นธรรม ซึ่งก็หมายความว่า เห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ได้ชื่อว่า เห็นทั้งสองอย่าง เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว เป็นสภาพที่เนื่องถึงกัน

ประการที่ ๒ ท่านมุ่งหมายเอาสภาพอย่างเดียวกัน แต่มีชื่อเรียกต่างกัน เหมือนของอย่างเดียวกันแต่มีชื่อเรียกได้ ๒ ชื่อฉันนั้น โดยนัยนี้จะได้ความว่า ผู้ใดเห็นธรรมกาย ผู้นั้นชื่อว่า เห็นตถาคต (ธรรมกาย) ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นชื่อว่า เห็นธรรมกาย เพราะคำว่า "ธรรมกาย" เป็นพระนามหนึ่งของพระตถาคต ดังนี้ก็ถูก

อีกนัยหนึ่ง ผู้ใดเห็นธรรมดังที่ตถาคตเห็น ผู้นั้นชื่อว่า เห็นตถาคต (ธรรมกาย) ดังที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี หลวงพ่อวัดปากน้ำ ได้กล่าวสอนไว้ ให้ปฏิบัติตามมัชฌิมาปฏิปทาคือดำเนินจิตไปตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ในกลางกาย ให้เป็นมรรคสมังคี ดำเนินไปเป็นอันเดียวกันไม่แตกแยก ก็จะเข้าถึงกายในกายจนถึงธรรมกาย เมื่อเข้าถึงธรรมกายแล้ว ธมฺมจกฺขุ อุทปาทิ ดวงตาเห็นธรรมก็จะเกิด ญาณํ อุทปาทิ ญาณก็จะเกิด ปญฺญา อุทปาทิ ความรู้ก็จะเกิด ดังที่ตรัสไว้ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นต้น อาศัยดวงตาเห็นธรรม และญาณคือความรู้ของธรรมกาย ก็จะเห็นธรรมคืออริยสัจจ์ ๔ อันเป็นเหตุให้บรรลุมรรคผลนิพพาน อย่างที่พระตถาคตเจ้าทรงรู้ทรงเห็นมาก่อนนั่นเอง โดยความหมายนี้จึงควรกล่าวว่า ผู้ใดเห็นธรรม(ดังที่พระตถาคตเห็น) ผู้นั้น ชื่อว่าเห็น (เรา) ธรรมกาย ผู้ใดเห็น (เรา) ธรรมกาย ผู้นั้น ชื่อว่า เห็นธรรม (ดังที่ตถาคตเห็น) ดังนี้ก็ถูก เพราะเหตุนั้น พระอรรถกถาจารย์จึงยกพุทธพจน์ขึ้นกล่าวว่า

"ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา(ตถาคต)เพราะธรรมกายแล คือตถาคต"

ดังนี้เป็นต้น

และในฎีกาท่านแสดง "พระธรรมกาย" อันเป็นพระนามของพระตถาคตดังต่อไปนี้ ๑. ฎีกาสารัตถทีปนี ภาค ๑ ฉบับมหามกุฏฯ ข้อ ๒๘๖ หน้า ๕๔๗ ว่า

"สนฺตาเนติ วุตฺตตฺตา อณฺฑสทิสตา สนฺตานสฺส พหินิกฺขนฺตกุกฺกุฏจฺฉาปกสทิสตา พุทฺธคุณานํ, พุทธคุณาติ จ อตฺถโต พุทฺโธเยว “ตถาคตสฺส โข เอตํ วาสิฏฺฐ อธิวจนํ ธมฺมกาโย อิติปีติ วจนโต ฯ" (ในพระไตรปิฎก เป็น ตถาคตสฺส เหตํ วาเสฏฺฐา ฯ)

แปลว่า : ความที่การสืบต่อเป็นเหมือนไข่ไก่ เพราะท่านกล่าวว่า สนฺตาเน ดังนี้ ความที่พระพุทธคุณทั้งหลาย เป็นเหมือนลูกไก่ตัวออกไปภายนอกได้ อนึ่ง คำว่า พุทธคุณ โดยเนื้อแท้ ได้แก่ พระพุทธเจ้านั่นเอง เพราะพระดำรัสว่า ดูก่อนวาเสฏฐ คำว่า ธรรมกาย นี้ เป็นชื่อของตถาคตแล ฯ

ขยายความ : จุดเริ่มต้นของพุทธคุณ คือความเป็นพระสัมพุทธะ หรือ ธรรมกาย เริ่มที่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระโพธิสัตว์ทรงอาศัยธรรมกายทำอนุปัสสนา ๓ อย่าง คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ในจิตสันดานของพระองค์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการออกจากฟองไข่ คือ อวิชชา เหมือนแม่ไก่ทำกิริยา ๓ อย่าง มีการนอน กกอยู่บนฟองไข่ทั้งหลายเป็นต้นของตน เป็นจุดเริ่มต้นของการฟักตัวเจริญเติบโตมีอวัยวะครบบริบูรณ์ของลูกไก่ในฟองไข่ และเมื่อพระองค์ทรงอาศัยวิปัสสนาญาณอันแก่กล้าของธรรมกายทำลายกระเปาะฟองไข่คือ

อวิชชาได้แล้ว ได้ชื่อว่าทรงทำพุทธคุณคือความเป็นพระสัมพุทธะ หรือ ธรรมกาย ให้เกิดขึ้นอย่างบริบูรณ์แล้ว ให้สว่างไสวแผ่ออกไปแล้ว เปรียบเหมือนภาวะที่ลูกไก่อาศัยเล็บเท้า และจงอยปากที่หยาบและแข็ง ทำลายกระเปาะไข่ออกไปภายนอกได้ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น พระฎีกาจารย์จึงกล่าวว่า ความที่พระพุทธคุณทั้งหลาย เป็นเหมือนลูกไก่ตัวออกไปภายนอกได้ เพราะพุทธคุณโดยเนื้อแท้ได้แก่พระพุทธเจ้าคือธรรมกายนั่นเอง ดังนี้

๒. ฎีสารัตถทีปนี ภาค ๒ ฉบับมหามกุฏฯ ข้อ ๑๑๙ หน้า ๒๕๔ ว่า

"ธมฺมสนฺตเกน พุทฺธปูชํ กาตุ, พุทฺธสนฺตเกน วา ธมฺมปูชํ กาตุ วฏฺฏติ, น วฏฺฏตีติ ฯ “ตถาคตสฺส โข เอตํ วาเสฏฺฐา อธิวจนํ ธมฺมกาโย อิติปีติ จ โย โข วกฺกลิ ธมฺมํ ปสฺสติ, โส มํ ปสฺสตีติ จ วจนโต วฏฺฏตีติ วทนฺติ ฯ"

แปลว่า : ถามว่า การที่บุคคลผู้มีธรรมในภายใน จะทำการบูชาพระพุทธเจ้า หรือการที่บุคคลผู้เข้าถึงพระพุทธเจ้าในภายใน จะทำการบูชาพระธรรมควรหรือไม่ควร ดังนี้ ตอบว่า ย่อมควร เพราะพระดำรัสว่า ดูก่อนวาเสฏฐ คำว่า ธรรมกายนี้ เป็นชื่อของตถาคตแล และพระดำรัสว่า ดูก่อนวักกลิ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ฯ

ขยายความ : พระฎีกาจารย์ตั้งคำถามว่า บุคคลที่เข้าถึงธรรมแล้ว จะบูชาพระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของธรรม หรือผู้เข้าถึงพุทธรัตนะในภายใน จะทำการบูชาพระธรรมรัตนะควรหรือไม่ แล้วก็ตอบเองว่า ย่อมควร โดยยกพระดำรัสดังกล่าวมาแสดงว่า เพราะคำว่าธรรมกายนี้ เป็นชื่อของตถาคต และว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ฯ ซึ่งก็หมายความว่า ถ้าบุคคลผู้เข้าถึงธรรมกายแล้ว จะบูชารัตนะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ชื่อว่าบูชาทั้ง ๒ เพราะเป็นสภาพที่เนื่องถึงกัน ฯ ในเรื่องนี้มีพระดำรัสที่ตรัสไว้ใน พราหมณธัมมยาคสูตร (ขุ. อิติ. ๒๕/๑๐๐/๓๙๔) ว่า

"เหล่าสัตว์ ย่อมนอบน้อมพระตถาคตเจ้า ผู้ทรงบูชาธรรม ไม่ทรงมีความตระหนี่ ทรงอนุเคราะห์สรรพสัตว์เสมอ ทรงเป็นผู้ ประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์ ทรงถึงฝั่งแห่งภพเช่นนั้น ฯ

หมายความว่า บุคคลเมื่อบูชาพระตถาคตเจ้า ก็ชื่อว่าบูชาธรรมด้วย เพราะพระตถาคตทรงบูชาธรรม และเมื่อบูชาธรรม ก็ชื่อว่า บูชาพระตถาคตเจ้าด้วย เพราะพระองค์ทรงเป็นเจ้าของธรรม (ธรรมสามี) ก็ถูกฯ

คำค้น
1
บทความอื่นๆในหมวดนี้