พระธรรม แว่นส่องธรรมกาย :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

พระธรรม แว่นส่องธรรมกาย

พระธรรม แว่นส่องธรรมกาย

ขยายความหลักฐานธรรมกาย โดย พระมหาสมเกียรติ วรยโส (ป.ธ.๙)

คำว่า "ธรรมกาย" ในคัมภีร์ฎีกาพระวินัย ชื่อ สารัตถทีปนี ภาค ๑ ข้อ ๗๗ - ๗๘ หน้า ๑๙๑ - ๑๙๒ ว่า

อโสโก กิร มหาราชา อุปริวกฺขมานานุกฺกเมน สีหปญฺชเรน โอโลเกนฺโต นิโคฺรธสามเณรํ อิริยาปถสมฺปนฺนํ นาครชนนยนานิ อากฑฺฒนฺนํ ยุคมตฺตํ เปกฺขมานํ ทิสฺวา ปสีทิตฺวา สญฺชาตเปโม สมฺพหุมาโน อามนฺตาเปตฺวา เสตจฺฉตฺตสฺส เหฏฺฐา สีหาสเน นิสีทาเปตฺวา โภเชตฺวา สามเณรสฺส วจนาทาเส ทิสฺสมานํ ทสพลธมฺมกายํ ทิสฺวา รตนตฺตเย ปสีทิตฺวา สปริโส สรณสีเลสุ ปติฏฺฐาย ตโต ปฏฺฐาย อภิวฑฺฒมานสทฺโธ ปุพฺเพ โภชิยมานานิ ติตฺถิยสฏฺฐิสหสฺสานิ นีหริตฺวา ภิกฺขูนํ สฏฺฐิสหสฺสานํ สุวกาหฏสาลิสมฺปาทิตํ ภตฺตํ ปฏฐเปตฺวา เทวโตปนีตํ อโนตตฺตสลิลํ นาคลตาทนฺตกฏฺฐญฺจ อุปนาเมตฺวา นิจฺจํ สงฺฆุปฏฺฐานํ กโรนฺโต เอกทิวสํ สุวณฺณสงฺขลิกพนฺธนํ วิสชฺเชตฺวา กาฬํนาคราชานํ อานยิตฺวา เตน นิมฺมิตํ วุตฺตปฺปการํ สิริโสภคฺคสมฺปนฺนํ พุทฺธรูปํ ปสฺสนฺโต ทีฆปุถุลนิจฺจลนยนปฺปภาหิ สตฺตาหํ อกฺขิปูชมกาสิ ฯ

แปลว่า : ดังได้สดับมา พระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อทรงทอดพระเนตร ทางสีหบัญชร (หน้าต่าง) โดยลำดับแห่งคำที่กล่าวไว้ข้างต้น ทรงเห็นนิโครธสามเณรผู้สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ ผู้ฉุดดึงนัยนาของชาวพระนครทั้งหลาย ผู้แลดูที่ประมาณชั่วแอก แล้วทรงเลื่อมใส เกิดความรัก มีความนับถือท่วมท้น รับสั่งให้ราชบุรุษไปนิมนต์มาแล้ว นิมนต์ให้นั่งบนสีหอาสน์ภายใต้เศวตฉัตร นิมนต์ให้ท่านฉันแล้ว ทรงเห็น พระธรรมกาย ของพระทศพลปรากฏอยู่ในแว่น คือ คำพูดของสามเณร ทรงเลื่อมใสในพระรัตนตรัย จึงทรงดำรงอยู่ในสรณะและศีล พร้อมทั้งบริษัท ตั้งแต่นั้นมาก็ทรงมีพระศรัทธาเพิ่มมากขึ้น จึงทรงไล่พวกเดียรถีย์ ๖๐,๐๐๐ คน ที่ทรงให้บริโภคในครั้งก่อนเสีย แล้วทรงเริ่มจัดตั้งภัตร ที่ให้จัดเตรียมด้วยข้าวสาลี ที่นกแขกเต้านำมาถวาย ให้น้อมนำน้ำจากสระอโนดาตที่เทวดานำมา และไม้ชำระฟันชื่อนาคลดาเข้าไปถวาย แล้วทรงทำการบำรุงพระสงฆ์เป็นนิตย์ ทรงปล่อยสุวรรณสังขลิกพันธ์ (โซ่ทอง) ไป ให้นำกาฬนาคราชมาแล้ว ทรงทอดพระเนตรดูพระรูปแห่งพระพุทธเจ้า ซึ่งสมบูรณ์ด้วยความเลิศแห่งความงามคือพระสิริอันมีประการที่กล่าวแล้ว ซึ่งกาฬนาคราชนั้นเนรมิต จึงได้ทรงทำการบูชาด้วยนัยน์ตาตลอด ๗ วัน ด้วยแสงสว่างแห่งนัยน์ตาอันยาว กว้าง และไม่หวั่นไหวฯ

ขยายความ : คนผู้ได้สั่งสมบุญบารมีมาดี อาศัยบุญบารมีชำระปัญญาของตนให้ผ่องใส ฟังธรรมแม้น้อยย่อมรู้แจ้งธรรมได้ฉับพลัน ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในคาถาธรรมบทว่า

"ถ้าวิญญูชนคนมีปัญญา เข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตแม้เพียงครู่เดียว ย่อมรู้ธรรมได้ฉับพลัน เหมือนลิ้นรู้รสแกงฉะนั้น"

เหมือนดังพระสารีบุตรเถระ ในอดีตเป็นปริพาชกชื่ออุปติสสะ ได้พบพระอัสสชิเถระ จึงเกิดความเลื่อมใสขอให้แสดงธรรม พระอัสสชิเถระจึงแสดงธรรมโดยย่อเพียง ๒ บาทคาถาเท่านั้น ก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลอันถึงพร้อมด้วยนัยพันหนึ่ง เมื่อคุณวิเศษชั้นสูงยังไม่ดำเนินไปอยู่ จึงกราบเรียนกะพระอัสสชิเถระว่า "ท่านขอรับ ท่านไม่ต้องขยายธรรมเทศนายิ่งขึ้นไปแล้ว เพียงเท่านี้ก็พอ" ทั้งนี้เพราะอุปติสสปริพาชกได้ฟังธรรมซึ่งเป็นประดุจแว่นส่องหนทางดำเนินไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพานด้วยตนเองแล้วได้บรรลุธรรมเบื้องต้นตามที่ได้ฟัง ขอเพียงมีเวลาทำความเพียรเพิ่มเติมก็สามารถบรรลุธรรมชั้นสูงได้ด้วยตนเอง

พระเจ้าอโศกมหาราชก็เช่นกันเป็นผู้สั่งสมบุญบารมีไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก ได้ฟังธรรมจากนิโครธสามเณรโดยย่อเพียง ๒ บาทหรือกึ่งคาถา ว่า

"อปฺปมาโท อมตํ ปทํ ปมาโท มจฺจุโน ปทํ ฯ"

"ความไม่ประมาท เป็นหนทางดำเนินไปสู่อมตะ คือ นิพพาน ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย" ก็ทรงรับสั่งว่า "พ่อเณร! จงยังธรรมเทศนาที่ข้าพเจ้าได้รู้แล้วให้จบไว้ก่อนเถิดฯ" ทั้งนี้เพราะพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นผู้มีปัญญา จึงได้รู้ความของพระธรรมเทศนาโดยย่อนั้นว่า ตั้งแต่นี้ไปควรจะประพฤติเป็นผู้ไม่ประมาทคือจะดำเนินจิตไปโดยไม่ปราศจากสติทุกเมื่อ ที่เรียกว่ามหาสติปัฏฐานอันเป็นหนทางดำเนินไปสู่พระนิพพานอันเป็นภูมิสถานที่สถิตสถาพร ของพระธรรมกายของพระสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย อันเป็นอัตตาตัวตนที่เที่ยงแท้ไม่แปรเปลี่ยน จึงเป็นสุขอย่างยิ่ง ดังที่ท่านกล่าวไว้ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรคว่า "พระนิพพานเป็นคติ (ทางไปหรือภูมิเป็นที่ไปอยู่) ของพระอรหันต์ทั้งหลาย" เพราะพระนิพพานเป็นอายตนะที่มีสภาพเที่ยงแท้ไม่แปรเปลี่ยน และเป็นสุขอย่างยิ่ง เหตุที่ปราศจากสภาพที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และปราศจากอนัตตา ที่ชาวโลกยึดถือด้วยอำนาจตัณหาทิฏฐิว่า เป็นอัตตา อันไม่ใช่อัตตาตัวตนที่แท้จริง และถ้าปราศจากสติแล้วชื่อว่าเป็นผู้ประมาทแล้ว ย่อมไม่พ้นจากความเกิด ความแก่และความตายในที่สุด" ดังนี้แล้ว จึงดำเนินจิตมุ่งไปตามความแห่งพระคาถาที่เป็นประดุจแว่นส่องทางดำเนินไปสู่ธรรมกาย ที่เปล่งออกมาจากถ้อยคำของนิโครธสามเณร ตามนัยที่ตนเข้าใจ จึงทรงเลื่อมใส และตั้งอยู่ในพระรัตนตรัย คือพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ อันไม่หวั่นไหวฯ"

เพราะเหตุนั้น พระฎีกาจารย์จึงกล่าวว่า "ทรงเห็น พระธรรมกาย ของพระทศพล อันปรากฏอยู่ในแว่น คือ ถ้อยคำของสามเณร แล้วทรงเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ทรงตั้งอยู่ในสรณะและศีลพร้อมด้วยบริษัท" ดังพรรณนามาฉะนี้

คำค้น
1
บทความอื่นๆในหมวดนี้