โครงการธรรมยาตรา เส้นทางพระผู้ปราบมาร ปีที่ 8 :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

โครงการธรรมยาตรา เส้นทางพระผู้ปราบมาร ปีที่ 8

โครงการธรรมยาตรา เส้นทางพระผู้ปราบมาร ปีที่ 8

  • “รักษ์บวร รักษ์ศีล 5” 
  • ถวายเป็นพุทธบูชา และบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ เนื่องในเทศกาลขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2563

1. หลักการและเหตุผล
สืบเนื่องจากเทศกาลเริ่มพุทธศักราช 2563 คณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย จึงได้ประสานความร่วมกับ องค์การพุทธโลก (พล), องค์กรทางพระพุทธศาสนา ภาคีเครือข่ายคณะสงฆ์ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จำนวน 30 องค์กร ร่วมกันดำเนินงาน “โครงการ ธรรมยาตรา เส้นทางพระผู้ปราบมาร ปีที่ 8 รักษ์บวร รักษ์ศีล 5 ถวายเป็นพุทธ-บูชา และบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ เนื่องในเทศกาลขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2563” ขึ้น โดยกำหนดดำเนินโครงการฯ ระหว่างวันที่ 2 - 31 มกราคม พ.ศ.2563 ในพื้นที่ 6 จังหวัด ตามเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ ประกอบด้วย จังหวัดปทุมธานี, จังหวัดนนทบุรี, จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, จังหวัดสุพรรณบุรี, จังหวัดนครปฐม, และกรุงเทพมหานคร ด้วยรูปแบบกิจกรรม “รักษ์บวร รักษ์ศีล 5” เพื่อสืบสานวีถีวัฒนธรรมชาวพุทธให้เข้มแข็ง สืบทอดอายุของพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง ทั้งยังเป็นการหนุนเสริมการขับเคลื่อนภารกิจของคณะสงฆ์ ในด้านการเผยแผ่ ด้านการสาธารณสงเคราะห์ และด้านสาธารณูปการ

ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้คณะสงฆ์ เยาวชน ประชาชน และภาคีเครือข่ายฯ ได้ร่วมทำกิจกรรม “ธรรมยาตรา” ถวายสังฆทาน สวดมนต์ ปฏิบัติธรรม ส่งเสริมศีลธรรม สร้างความเป็นสิริมงคล ต้อนรับเทศกาลขึ้นปีใหม่ รู้รักสามัคคี ฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมชาวพุทธให้กลับคืนสู่ “บ ว ร” คือ “บ้าน วัด โรงเรียน” อย่างยั่งยืน ฝึกประชาชนให้มีความอ่อนน้อมถ่อมตนตามหลักธรรม “อปจายนมัย” ทำให้สังคมไทย สงบสุข ยั่งยืนด้วยบารมีธรรมของพระพุทธองค์

2. วัตถุประสงค์ 

  1. เพื่อน้อมถวายเป็น “พุทธบูชา” เนื่องในเทศกาลขึ้นปีใหม่ สืบสานวีถีวัฒนธรรมชาวพุทธให้เข้มแข็ง สืบทอดอายุของพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง
  2. เพื่อบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ “พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)” หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ในเส้นทางพระผู้ปราบมาร (เส้นทางซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่ที่เกี่ยวเนื่องกับชีวประวัติของพระมงคลเทพมุนี ซึ่งคณะศิษยานุศิษย์ได้พร้อมใจกันสถาปนาขึ้นรวม 7 แห่ง)
  3. เพื่อสร้างศาสนทายาทและเป็นกิจกรรมให้พระภิกษุบวชใหม่ได้ฝึกตนตามพุทธวิธี เป็นศาสนทายาทที่ดีแก่พระพุทธศาสนาและเป็นเนื้อนาบุญอันเลิศแก่พุทธศาสนิกชน
  4. เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งด้านศีลธรรมตามหลัก “บวร” ผ่านการสร้างภาคีเครือข่ายคณะสงฆ์ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม “รักษ์บวร รักษ์ศีล 5” ในพื้นที่ดำเนินงานฯ
  5. เพื่อส่งเสริมศีลธรรม สร้างเสริมศรัทธาที่มั่นคงในพระพุทธศาสนา และพระรัตนตรัย แก่เยาวชน ประชาชน และภาคีเครือข่ายฯ เสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับประเทศชาติ
  6. เพื่อหนุนเสริมการขับเคลื่อนภารกิจของคณะสงฆ์ ในด้านการเผยแผ่ ด้านการสาธารณสงเคราะห์ และด้านสาธารณูปการ

3. เป้าหมาย

ปริมาณ

  • พระภิกษุธรรมยาตรา 1,136 รูป
  • เยาวชน และประชาชน ในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมประมาณร้อยละ 40 

คุณภาพ

  • ผู้เข้าร่วมโครงการฯ มีความพึงพอใจในกิจกรรมวิถีวัฒนธรรมชาวพุทธ และนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “ทาน ศีล ภาวนา” ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดความสุข 

4. ผู้รับผิดชอบ

  1. คณะสงฆ์ 6 จังหวัด ในเส้นทางธรรมยาตรา
  2. คณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย
  3. มูลนิธิธรรมกาย
  4. ชมรมรักษ์บวร รักษ์ศีล 5 ปทุมธานี ในอุปถัมภ์ธรรมรัตนาภรณ์
  5. องค์การพุทธโลก (พล)
  6. ชมรมพุทธศาสตร์สากล ในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
  7. องค์กรอาสาสมัครเพื่อสันติภาพโลก (V-PEACE)
  8. หน่วยงานทางการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เข้าร่วมโครงการฯ
  9. โรงเรียนและสถาบันการศึกษา ที่เข้าร่วมโครงการฯ
  10. ภาคีเครือข่าย “บ ว ร” 6 จังหวัด ในเส้นทางธรรมยาตรา

5. ระยะเวลาดำเนินการ

  • ช่วงเตรียมงาน: เดือนตุลาคม ถึง เดือนธันวาคม พ.ศ.2562
  • ช่วงพระภิกษุธรรมยาตราฯ: ระหว่างวันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2563 ถึง 31 มกราคม พ.ศ.2563
  • ช่วงประชาชน เยาวชน และภาคีเครือข่ายฯ เข้าร่วมกิจกรรมธรรมยาตราฯ: ระหว่างวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2563 ถึง 31 มกราคม พ.ศ.2563

6. สถานที่ดำเนินงาน

ภายในอนุสรณ์สถาน “เส้นทางพระผู้ปราบมาร” คือ เส้นทางซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่ที่เกี่ยวเนื่องกับชีวประวัติของ “พระมงคลเพทมุนี (สด จนฺทสโร)” หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย พระผู้ปราบมาร ซึ่งคณะศิษยานุศิษย์พร้อมใจกันสถาปนาขึ้น 7 แห่ง ดังนี้

  1. มหาวิหารบ้านเกิดพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร): สถานที่เกิดด้วยรูปกายเนื้อ ตั้งอยู่บนแผ่นดินรูปดอกบัว อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
  2. อนุสรณ์สถานคลองบางนางแท่น: สถานที่ตั้งมโนปณิธานว่าจะบวชตลอดชีวิต ตั้งอยู่ริมคลองบางนางแท่น อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
  3. พระอุโบสถวัดสองพี่น้อง (พระอารามหลวง): สถานที่เกิดใหม่ในเพศสมณะ ตั้งอยู่วัดสองพี่น้อง (พระอารามหลวง) อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
  4. อนุสรณ์สถานวัดโบสถ์บน: สถานที่เกิดใหม่ด้วยกายธรรม ตั้งอยู่วัดโบสถ์บน ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนครปฐม
  5. อนุสรณ์สถานบางปลา: สถานที่เผยแผ่วิชชาธรรมกายครั้งแรก ตั้งอยู่บนแผ่นดินตรงข้ามวัดบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
  6. วัดปากน้ำ (พระอารามหลวง): สถานที่ค้นคว้าและเผยแผ่วิชชาธรรมกาย ตั้งอยู่วัดปากน้ำ (พระอารามหลวง) เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร
  7. มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร): สถานที่ขยายวิชชาธรรมกาย ตั้งอยู่วัดพระธรรมกาย ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

รวมถึง วัด โรงเรียน ชุมชน ในเส้นทางและพื้นที่วงรอบของอนุสรณ์สถานฯ ทั้ง 7 แห่ง

7. วิธีการดำเนินการ

  1. จัดทำโครงการฯ และกิจกรรม ที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ในรูปแบบภาคีเครือข่ายฯ ระหว่าง คณะสงฆ์ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
  2. ประสานงานด้านการประชาสัมพันธ์และขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโครงการฯ กับภาคีเครือข่ายฯ หน่วยงานในพื้นที่รับผิดชอบและองค์กรที่เกี่ยวข้อง
  3. ดำเนินการจัดกิจกรรมในโครงการฯ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
  4. ภาคีเครือข่ายฯ ร่วมกันทำกิจกรรมต้อนรับคณะสงฆ์ ถวายสังฆทาน สวดมนต์ และปฏิบัติธรรม สืบสานวิถีวัฒนธรรมชาวพุทธ รวมทั้งมอบทุนการศึกษาแก่สถานศึกษา

 8. ผู้อุปถัมภ์โครงการ

เครือข่ายคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายทั่วโลก และผู้มีจิตศรัทธา

9. ผู้ร่วมสนับสนุนโครงการ

ภาคีเครือข่ายฯ 30 องค์กร ในพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย

  1. สมาคมผู้บริโภคสื่อสีขาว
  2. สมาคมสื่อสร้างสรรค์เพื่อเยาวชน
  3. สมาคมส่งเสริมความดีสากล
  4. สมาคมรวมใจไทยปทุม
  5. สมาคมวัฒนธรรมเพื่อความดีสากล
  6. สมาคมบัณฑิตรัตน์
  7. สมาคมวิทยุและโทรทัศน์กล้าตะวัน
  8. สมาคมบัณฑิตสดใส
  9. สมาคมผู้บริหารท้องถิ่นแห่งประเทศไทย
  10. สมาคมคนรักพุทธศาสตร์
  11. สมาคมสร้างสรรค์สังคมไทย
  12. สมาคมสร้างสรรค์สันติภาพ
  13. สมาคมเพื่อนแพทย์ไร้พรมแดน
  14. สมาคมพุทธศาสตร์สัมพันธ์
  15. สมาคมส่งเสริมศีลธรรมและความดีสากล
  16. สมาคมพุทธบุตร 60
  17. มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาพุทธศาสตร์
  18. ศูนย์อบรมเยาวชนนครปฐม
  19. ชมรมจิตอาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
  20. ชมรมอุบาสิกาแก้วทั่วไทย
  21. ศูนย์ปฏิบัติธรรมพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) จังหวัดสุพรรณบุรี
  22. ศูนย์อบรมเยาวชนพระนครศรีอยุธยา
  23. ศูนย์อบรมเยาวชนนนทบุรี
  24. ศูนย์ปฏิบัติธรรมตลิ่งชัน น้ำใส ใจสว่าง
  25. ศูนย์ส่งเสริมศีลธรรมจังหวัดปทุมธานี
  26. ชมรมเรารักคลองสาม
  27. กลุ่มชุมชนสัมพันธ์ปทุมธานี
  28. ชมรมจิตอาสาพัฒนาชุมชน ในอุปถัมภ์พระครูวิจิตรอาภากร
  29. สมาพันธ์หมู่บ้านจัดสรรอำเภอคลองหลวง
  30. ศูนย์นวัตกรรมรักษ์วัด รักษ์สิ่งแวดล้อม

10. ภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่เข้าร่วมโครงการฯ

  1. หน่วยงานของรัฐ เช่น หน่วยงานราชการ, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, รัฐวิสาหกิจ, สถานการศึกษา ฯลฯ
  2. องค์กรภาคเอกชน เช่น โรงแรม, บริษัททัวร์, บริษัท, ห้างร้าน เป็นต้น
  3. องค์กรภาคประชาสังคมและหน่วยงานการกุศล เช่น มูลนิธิ, สมาคม, สโมสร, ชมรม
  4. ภาคประชาชน

11. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. ประชาชนชาวไทย ได้สร้างบุญใหญ่ร่วมกัน ได้ตระหนักในหน้าที่ของชาวพุทธ มีศรัทธาในพระรัตตรัย เกิดภาพลักษณ์ที่ดีแก่ประเทศชาติและพระพุทธศาสนา ศีลธรรมโลกได้รับการฟื้นฟู
  2. เกิดเครือข่าย “บ ว ร” ที่ยั่งยืน ส่งเสริมความเข้มแข็งทางศีลธรรม และเกิดเครือข่าย “ผู้นำเยาวชนต้นแบบด้านศีลธรรม” ที่มีศีลธรรมพื้นฐานและเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี
  3. คณะสงฆ์และหน่วยงานทางการศึกษา เกิดพลังในการขับเคลื่อนงานด้านศีลธรรมร่วมกันในรูปแบบภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง เป็นรูปธรรม สนองนโยบายของคณะสงฆ์และสถานศึกษา
  4. วัฒนธรรมชาวพุทธที่ดีงามกลับคืนสู่สังคมไทย ตลอดจนมาตรฐานศีลธรรมของเยาวชนไทย เยาวชนโลก และพลโลก ถูกยกระดับให้สูงขึ้น
  5. ประชาชนเกิดกระแสศีลธรรมขึ้นในจิตใจ เกิดความเป็นสิริมงคลต่อชีวิต มีกำลังใจในการทำสิ่งที่ดีงาม ทั้งต่อตนเอง สังคม ประเทศชาติและพระพุทธศาสนา อย่างมั่นคงและยั่งยืน 

12. ศูนย์ประสานงานโครงการฯ

  • ศูนย์ประสานงานกลาง: เลขที่ 40 หมู่ 8 ตำบลคลองสอง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
  • ผู้ประสานงานโครงการฯ: นายองอาจ ธรรมนิทา โฆษกคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายโทรศัพท์ 081-875-4866, องค์การพุทธโลก (พล) โทรศัพท์ 087-502-6888 

บทความอื่นๆในหมวดนี้