สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) (3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 – 24 ตุลาคม พุทธศักราช 2556) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อ พุทธศักราช 2532 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นสมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชันษามากกว่าสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ในอดีต และเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกของไทยที่มีพระชันษา 100 ปี สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พุทธศักราช 2556 เนื่องจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต
พระประวัติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (สุวัฑฒนมหาเถระ) มีพระนามเดิมว่า เจริญ นามสกุล คชวัตร ทรงมีพระชาติภูมิ ณ จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พุทธศักราช 2456 ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อพระชนมายุ 14 พรรษา ณ วัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี หลังจากนั้นได้เข้ามาอยู่ศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จนพระชนมายุครบอุปสมบท และทรงอุปสมบท ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2476 โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวง วชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ประทับอยู่ศึกษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตลอดมาจนกระทั่งสอบได้เป็นเปรียญธรรม 9 ประโยค เมื่อ พุทธศักราช 2484
เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ทรงดำรงสมณศักดิ์มาโดยลำดับ ดังนี้
- ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ พระราชาคณะชั้นราช และพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ พระโศภณคณาภรณ์
- ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมวราภรณ์
- ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ พระสาสนโสภณ
- ทรงเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร และทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราช ในราชทินนามที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ 21 เมษายน พุทธศักราช 2532 นับเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ทรงเป็นผู้ใคร่ในการศึกษา ทรงมีพระอัธยาศัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนมาตั้งแต่ทรงเป็นพระเปรียญ โดยเฉพาะในด้านภาษา ทรงศึกษาภาษาต่างๆ เช่น อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, จีน และสันสกฤต จนสามารถใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี กระทั่งเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระอุปัชฌาย์ของพระองค์ทรงเห็นว่า จะเพลินในการศึกษามากไป วันหนึ่งทรงเตือนว่า ควรทำกรรมฐานเสียบ้าง เป็นเหตุให้พระองค์ทรงเริ่มทำกรรมฐานมาแต่บัดนั้น และทำตลอดมาอย่างต่อเนื่อง จึงทรงเป็นพระมหาเถระที่ทรงภูมิธรรมทั้งด้านปริยัติและด้านปฏิบัติ
เนื่องจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ทรงรอบรู้ภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี จึงทรงศึกษาหาความรู้สมัยใหม่ ด้วยการอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ ทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม เป็นเหตุให้ทรงมีทัศนะกว้างขวาง ทันต่อเหตุการณ์บ้านเมือง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการสั่งสอนและเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก เป็นเหตุให้ทรงนิพนธ์หนังสือทางพระพุทธศาสนาได้อย่างสมสมัย เหมาะแก่บุคคลและสถานการณ์ในยุคปัจจุบัน และทรงสั่งสอนพระพุทธศาสนาทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ
ในด้านการศึกษา เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ได้ทรงมีพระดำริทางการศึกษาที่กว้างไกล ทรงมีส่วนร่วมในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกของไทย คือ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มาแต่ต้น ทรงริเริ่มให้มีสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อฝึกอบรมพระธรรมทูตไทยที่จะไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศ ทรงเป็นพระมหาเถระไทยรูปแรกที่ได้ดำเนินงานพระธรรมทูตในต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยเริ่มจากทรงเป็นประธานกรรมการอำนวยการสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศเป็นรูปแรก เสด็จไปเป็นประธานสงฆ์ในพิธีเปิดวัดไทยแห่งแรกในทวีปยุโรป คือ วัดพุทธปทีป ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ทรงนำพระพุทธศาสนาเถรวาทไปสู่ทวีปออสเตรเลียเป็นครั้งแรก โดยการสร้างวัดพุทธรังษี ณ นครซิดนีย์ ทรงให้กำเนิดคณะสงฆ์เถรวาทขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย ทรงช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศเนปาล โดยเสด็จไปให้การบรรพชาแก่ศากยะกุลบุตรในประเทศเนปาลเป็นครั้งแรก ทำให้ประเพณีการบวชฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่งในเนปาลยุคปัจจุบัน ทรงเจริญศาสนไมตรีกับองค์ดาไล ลามะ กระทั่งเป็นที่ทรงคุ้นเคยและได้วิสาสะกันหลายครั้ง และทรงเป็นพระประมุขแห่งศาสนจักรพระองค์แรกที่ได้รับทูลเชิญให้เสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างเป็นทางการ ในประวัติศาสตร์จีน
เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเป็นเอนกประการ ทรงเป็นนักวิชาการและนักวิเคราะห์ธรรมตามหลักการของพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า “ธัมมวิจยะ” หรือ “ธัมมวิจัย” เพื่อแสดงให้เห็นว่า พุทธธรรมนั้นสามารถประยุกต์ใช้กับกิจกรรมของชีวิตได้ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับสูงสุด ทรงมีผลงานด้านพระนิพนธ์ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จำนวนกว่า 100 เรื่อง ประกอบด้วยพระนิพนธ์แสดงคำสอนทางพระพุทธศาสนา ทั้งระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง รวมถึงความเรียงเชิงศาสนคดีอีกจำนวนมาก ซึ่งล้วนมีคุณค่าควรแก่การศึกษา สถาบันการศึกษาของชาติหลายแห่งตระหนักถึงพระปรีชาสามารถ และคุณค่าแห่งงานพระ นิพนธ์ ตลอดถึงพระกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติ จึงได้ทูลถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เป็นการเทิดพระเกียรติหลายสาขา
นอกจากพระกรณียกิจตามหน้าที่ตำแหน่งแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ยังได้ทรงปฏิบัติหน้าที่พิเศษ อันมีความสำคัญยิ่งอีกหลายวาระ กล่าวคือ ทรงเป็นพระอภิบาลในพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เมื่อครั้งเสด็จออกทรงพระผนวช เมื่อพุทธศักราช 2499 พร้อมทั้งทรงถวายความรู้ในพระธรรมวินัยตลอดระยะเวลาแห่งการทรงพระผนวช ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อครั้งเสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อพุทธศักราช 2521
เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ทรงดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญทางการคณะสงฆ์ในด้านต่าง ๆมาเป็นลำดับ เป็นเหตุให้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเป็นประโยชน์ต่อพระศาสนา ประเทศชาติ และประชาชน เป็นอเนกประการ นับได้ว่าทรงเป็นพระมหาเถระที่ทรงเพียบพร้อมด้วยอัตตสมบัติ และปรหิตปฏิบัติ และทรงเป็นครุฎฐานียบุคคลของชาติ ทั้งในด้านพุทธจักรและอาณาจักร
คำอธิษฐานถวายพระพร สมเด็จพระสังฆราช
สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชได้เผยแพร่ คำอธิษฐานถวายพระพร สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ขอถวายบุญกุศลทั้งปวงที่บำเพ็ญมาตั้งแต่อดีตชาติจนถึงปัจจุบัน ณ วินาทีนี้แด่เจ้าพระคุณฯสมเด็จพระสังฆราช
ขอรวมกุศลทั้งปวงเป็นแสงสว่างไสวใสบริสุทธิ์ถวาย จิต แห่งพระองค์ท่านให้ยิ่งสว่างไสวผ่องแผ้วยิ่งๆขึ้นไป
สิ่งใดทางกาย วาจา ใจที่อาจมีล่วงเกิน ทั้งรู้และไม่รู้ตัว
ข้าพเจ้ากราบขอขมากรรมทั้งหมด ขอโมทนากุศลทุกสิ่งที่ทรงปฏิบัติมา และจะทรงบำเพ็ญต่อไป ไม่ว่าจะอยู่ในพระสังขารหรือใดๆ ขอพระรัตนตรัยโปรดชี้นำและเปิดทางสว่างให้ข้าพเจ้าขอปฏิบัติธรรม เดินจิตได้ถูกธรรม เพื่อให้สมเป็นผู้เดินตามรอยธรรมของพระผู้ประเสริฐและงดงามพระองค์นี้ด้วยเทอญ
******************************