วันมาฆบูชา :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

วันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 แต่หากปีใดมีเดือนอธิกมาส หมายถึง มีเดือนแปด 2 ครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4

ความสำคัญของวันมาฆบูชา

วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชุมพระสาวก ณ พระวิหารเวฬุวัน ในวันนั้นได้เกิดเหตุอัศจรรย์ประกอบด้วยองค์ 4 ซึ่งเรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” เหตุอัศจรรย์ดังกล่าว คือ

  1. เป็นวันพระขึ้น 15 ค่ำ ที่เรียกว่า “วันอุโบสถ” พระจันทร์เต็มดวง ดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
  2. พระภิกษุ 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้มีการนัดหมายทางวาจา กล่าวคือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้ทรงใช้ให้ใครไปเรียกมา แต่ต่างองค์ต่างรู้ด้วยญาณทัสสนะ ต่างองค์ต่างมาจากแต่ละทิศ
  3. พระภิกษุทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ทรงอภิญญา มีฤทธิ์ มีตาทิพย์ มีหูทิพย์ ระลึกชาติได้ รู้ใจผู้อื่น
  4. พระภิกษุทั้งหมดเป็นผู้ได้รับการบวชแบบ “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” หมายถึงการอุปสมบทโดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานให้ด้วยพระองค์เอง ด้วยการตรัสว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่ดีที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด”)

เมื่อพระภิกษุทั้งหมดมาประชุมพร้อมกันแล้ว พระบรมศาสดาทรงประทานโอวาทที่เรียกว่า “โอวาทปาติโมกข์” อันเป็นอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการ ในการเผยแผ่คำสอนของพระองค์ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

อุดมการณ์

คือ เป้าหมายสูงสุดของชีวิตชาวพุทธ และของชาวโลกทั้งโลก มี 3 ประการ ได้แก่

  • ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา “ความอดทน คือ ความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง”

กล่าวคือ เกิดเป็นคนต้องอดทนจึงจะได้ดี ถ้าไม่ทนก็เอาดีไม่ได้ เพราะเมื่อเกิดมาก็เป็นทุกข์มาตั้งแต่เกิด เมื่อชีวิตเป็นทุกข์ก็ต้องทนอยู่สู้ต่อไป เพราะความอดทนเป็นเครื่องเผาผลาญกิเลสชั้นเยี่ยม

  • นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา “พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า พระนิพพานเป็นเยี่ยม”

กล่าวคือ พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ทรงสอนเหมือนกันว่า พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ทนไปเถิด จะได้ไปพระนิพพาน ถ้าไม่ทน ก็ไม่ได้ไป

  • นะหิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต “นักบวชผู้ฆ่าสัตว์อื่น เบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่ชื่อว่าสมณะเลย”

กล่าวคือ ขณะที่ไปยังไม่ถึงนิพพาน ให้สงบเสงี่ยมเจียมตัว อย่าไปทำบาปเพิ่มอีก เพราะมีกฎแห่งกรรมควบคุมอยู่ ถ้าก่อเวรเพิ่ม ไม่ว่าด้วยเรื่องอะไรก็ตาม แสดงว่าไม่อดทน ถ้าไม่อดทนก็ไปไม่ถึงพระนิพพาน

หลักการ

คือ กฎเกณฑ์สำคัญของชาวพุทธ และของชาวโลกทั้งโลก ในการตัดสินใจว่า จะทำหรือไม่ทำอะไร ถ้าผิดหลักการก็ไม่ทำ แต่ถ้าไม่ผิดหลักการจึงค่อยทำ มี 3 ประการ ได้แก่

  • สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง “การไม่ทำบาปทั้งปวง”

กล่าวคือ ไม่ทำบาปทุกชนิด จะบาปมากหรือน้อยก็ไม่ทำ เพราะมีกฎแห่งกรรมคอยบังคับอยู่ ดังนั้นจะทำอะไรในชีวิตต้องถามตนเองก่อนว่า “บาปไหม” ถ้าบาปก็ไม่ทำ

  • กุสะลัสสูปะสัมปะทา “การบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม”

กล่าวคือ ความดีอะไรที่มีอยู่ในโลกนี้ ถ้ามีโอกาสต้องทำให้เต็มที่ เพราะความดีบางอย่าง ตัวเราเองก็ไม่มีโอกาสได้ทำ

  • สะจิตตะปะริโยทะปะนัง “การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว”

กล่าวคือ กลั่นจิตของตนให้ใสตลอดเวลา หมั่นนั่งสมาธิทุกวันไม่ให้ขาด เมื่อใจใสมากเข้าจึงจะเห็นพระนิพพานได้

วิธีการ

คือ แนวทางปฏิบัติตนอันเป็นคุณลักษณะที่ดีของชาวพุทธและของชาวโลกทั้งโลก มี 6 ประการ ดังนี้

  • อนูปะวาโท “การไม่เข้าไปว่าร้ายกัน”

กล่าวคือ พระอรหันต์หรือพระอาจารย์ผู้เผยแผ่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องไม่ว่าร้าย ไม่โจมตี ไม่นินทาใคร เว้นจากความชั่วทางวาจา

  • อนูปะฆาโต “การไม่เข้าไปล้างผลาญกัน”

กล่าวคือ พระอรหันต์หรือพระอาจารย์ผู้เผยแผ่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องไม่ทำร้าย ไม่เบียดเบียน ไม่ทำให้ใครได้รับความเดือดร้อน เว้นจากความชั่วทางกาย

  • ปาติโมกเข จะสังวะโร “การสำรวมในพระปาติโมกข์”

กล่าวคือ พระอรหันต์หรือพระอาจารย์ผู้เผยแผ่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องสำรวมระวังในศีลและมารยาทให้ดี ต้องมีศีล 227 ข้อ

  • มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง “ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร”

กล่าวคือ พระอรหันต์หรือพระอาจารย์ผู้เผยแผ่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องรู้ประมาณในการบริโภค ต้องฉันโดยรู้จักประมาณ รับมาให้พอประมาณ รับมาแค่พอประทังชีวิต

  • ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง “การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด”

กล่าวคือ พระอรหันต์หรือพระอาจารย์ผู้เผยแผ่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเลือกนอน เลือกนั่ง ในที่สงบ จะได้มีโอกาสในการบำเพ็ญเพียร

  • อะธิจิตเต จะ อาโยโค “การประกอบความเพียรในอธิจิต”

กล่าวคือ พระอรหันต์หรือพระอาจารย์ผู้เผยแผ่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องรักษาใจให้ใสอยู่ตลอดเวลา โดยการทำสมาธิในทุกอิริยาบถ ทั้งยืน เดิน นั่ง และนอน

เมื่อเราได้เรียนรู้ความหมายและความสำคัญของวันมาฆบูชา เฉพาะที่เป็นหัวข้อหลักใหญ่มาแล้ว ดังนั้นจึงขอเรียนเชิญทุกท่าน ร่วมกันทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยพร้อมเพรียงกัน

บทความอื่นๆในหมวดนี้