มุทิตาสักการะในวาระครบรอบ 72 ปี พระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว) :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

มุทิตาสักการะในวาระครบรอบ 72 ปี พระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

มุทิตาสักการะในวาระครบรอบ 72 ปี

พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

ใกล้วันมุทิตาสักการะในวาระครบรอบ 72 ปี ของพระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ หรือ หลวงพ่อทัตตชีโว รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย จึงเป็นศุภวาระแห่งการที่จะเทิดทูนพระคุณของท่าน และสำนึกในความเมตตาของพระเดชพระคุณท่าน ที่ทุ่มเทให้โอวาทพร่ำสอนอบรมศิษยานุศิษย์ทั้งพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และสาธุชนทั้งหลาย ซึ่งคำสอนของท่านมีแง่มุมหลักคิดที่ถ่ายทอดออกมาอย่างมีเหตุมีผล เด็ดขาด ชัดเจน โดยขั้นตอนในการเทศนาและการเขียนหนังสือนั้น บ่งบอกบุคลิกลักษณะเด่นเฉพาะตัวของท่าน ที่ได้ฟังหรืออ่านแล้วมีกำลังใจในการฝึกฝนอบรมตนเองให้ยิ่งๆขึ้นไป

ท่านได้ค้นคว้าให้ธรรมะแก่มหาชน โดยถือหลักหลังอิงต้นโพธิ์ ทุ่มเทค้นคว้าพระไตรปิฎก เพื่อมุ่งปลูกฝังสัมมาทิฐิ ปลูกฝังคุณธรรมความดีต่างๆ โดยถ่ายทอดเป็นธรรมเทศนาผ่านโอวาทต่างๆในรูปแบบของการบรรยายพระธรรมเทศนา หรือผ่านงานเขียนหนังสือที่มีผลงานมากกว่าร้อยเล่ม นอกจากนี้แล้ว พระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว) ท่านเป็นผู้ให้ความสำคัญต่อการสร้างพระให้เป็นพระแท้  สร้างคนให้เป็นคนดี และสร้างวัดให้เป็นวัดที่เหมาะสมแก่การประพฤติปฏิบัติธรรม และท่านเคยกล่าวไว้ว่า “วัด คือ โรงเรียนสอนศีลธรรมให้กับมหาชน”

ประวัติโดยย่อ

วันคล้ายวันเกิดของ พระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว) คือ วันที่ 21 ธันวาคม ศกนี้ ซึ่งจะมีพิธีมุทิตาสักการะในวาระครบรอบ 72 ปี  ท่านมีนามเดิมว่า เผด็จ ผ่องสวัสดิ์ ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พุทธศักราช 2483 ณ จังหวัดกาญจนบุรี สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี กสิกรรมและสัตวบาลบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร เมื่อปีพุทธศักราช 2510 และ Diploma of Dairy Technology Hawksbury College ประเทศออสเตรเลีย

บรรพชาอุปสมบท

ท่านเข้าสู่เพศบรรพชิตเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พุทธศักราช 2514 ณ วัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพ โดยมี ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ (ช่วง วรปุญโญ ป.ธ.9) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพวรเวที  เป็นพระอุปัชฌาย์  ท่านได้รับฉายาว่า ทตฺตชีโว แปลว่า ผู้ถวายชีวิตแล้วแด่พระศาสนา

ดำรงตำแหน่งปัจจุบัน

ปัจจุบันดำรงสมณกิจ

  • รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
  • รองประธานมูลนิธิธรรมกาย
  • President of Dhammakaya International Meditation Center (U.S.A.)
  • รองหัวหน้าพระธรรมทูตสาย 8
  • ประธานโครงการอบรมธรรมทายาท

เส้นทางการสร้างบารมี

ต่อไปนี้เป็นคำบอกเล่าของพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว) ที่เกี่ยวกับเส้นทางในการสร้างบารมีของท่าน ตีพิมพ์ในหนังสือมุทิตาสักการะในวาระ 60 ปีทองของการสร้างบารมี 21 ธันวาคม พุทธศักราช 2543 และจากบันทึกที่ท่านเขียนไว้ในเรื่อง “ผจญมาร” ในหนังสือ “เดินไปสู่ความสุข” พิมพ์เมื่อปีพุทธศักราช 2512 ซึ่งมีข้อคิดน่าสนใจ จึงขอนำเนื้อหาบางส่วนมาถ่ายทอด ดังนี้...

“...เมื่ออาตมามีอายุย่างเข้าวัยรุ่นนั้น อาตมารักการฝึกสมาธิมาก เริ่มต้นมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2497 - 2498 ขณะเรียนหนังสืออยู่ชั้นมัธยม 4 แรกทีเดียวเป็นเพราะได้อ่านวิธีการฝึกสมาธิในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งรจนาโดยพระพุทธโฆษาจารย์ เมื่อประมาณ พ.ศ.900 ที่เจอเพราะรักการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจนั่นเอง อาตมาอ่านหนังสือทุกประเภท อ่านดะไปหมด อ่านจนหมดห้องสมุดประจำจังหวัดกาญจนบุรี พออ่านคัมภีร์วิสุทธิมรรคแล้วก็อยากฝึกสมาธิ แต่ฝึกเองไม่ได้ผล จึงดั้นด้นค้นหาอาจารย์สอนสมาธิ ให้บังเอิญไปพบอาจารย์ที่ฝึกสมาธิเพื่อประโยชน์ทางอิทธิฤทธิ์เข้าก่อน จึงเลยเป็นไปตามฤทธิ์หนุ่ม คือ ฝึกวิชาหนังเหนียว รูดโซ่ ลุยไฟ สะเดาะกลอน สารพัด ใจมันอยากจะเป็นอย่างขุนแผนกับเขาบ้าง ตอนนั้นไม่รู้เลยว่าวิชาเหล่านี้เป็นวิชามาร คิดว่าเป็นวิชาพระ เพราะมีคาถาประกอบเป็นบทสรรเสริญพระพุทธคุณบ้าง บทสรรเสริญพระโมคคัลลาน์อัครสาวกผู้มีฤทธิ์บ้าง...อาตมาคิดแต่ว่า จะเอาวิชานี้ไปทำประโยชน์ให้ประเทศชาติเท่านั้น ยิ่งตอนหลังเกิดหนังเหนียว อยู่ยงคงกระพันขึ้นมาจริงๆ ก็เลยหลงคิดว่ามาถูกทางแล้ว…

...อย่างไรก็ดี บุญเก่าของอาตมาคงมีอยู่ไม่น้อย จึงทำให้ได้พบหลวงพ่อธัมมชโย ( พระเทพญาณมหามุนี เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย) เสียก่อนที่จะหลงทางเลยเถิดไปไกล... ซึ่งตอนนั้นยังเป็นนิสิตรุ่นน้องปี 4 อาตมาจำได้แม่นยำว่าเป็นวันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน  พุทธศักราช 2509 ซึ่งเป็นวันลอยกระทง ...”

หลังจากที่คุณเผด็จ (หลวงพ่อทัตตชีโว) ได้ทราบว่านิสิตรุ่นน้อง คือ คุณไชยบูลย์ สุทธิผล (หลวงพ่อธัมมชโย) ผู้นี้ถือศีล 5 ไม่ดื่มสุรา และเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ท่านจึงสนใจและได้ติดตามทำความรู้จัก พอได้พูดคุยก็รู้สึกถูกอัธยาศัย จึงอยากจะถ่ายทอดวิชาที่เรียนมาให้ โดยได้ขอทดสอบภูมิความรู้ทางธรรมก่อน เนื่องจากคุณเผด็จอ่านตำรามามาก คำถามจึงเยอะ ถึงขนาดเปิดพระไตรปิฎกถามนิสิตรุ่นน้องท่านนั้นข้ามวันข้ามคืน ต้อนคำถามไปเท่าไร ตอบได้หมดไม่เคยจนมุมคำถามเลย ที่เคยตั้งใจจะรับเป็นลูกศิษย์ ท่านก็ชักลังเลเพราะภูมิความรู้ทางธรรมของคุณไชยบูลย์เหนือกว่ามาก พอถามเรื่องนรก-สวรรค์ คุณไชยบูลย์ได้ให้คำตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำและยืนยันด้วยความมั่นใจว่ามีจริง ผู้ที่สามารถไปได้ยังมีชีวิตอยู่ เป็นศิษย์ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เป็นแม่ชีนามว่า คุณยายอาจารย์จันทร์ ขนนกยูง

“...ในช่วงก่อนที่หลวงพ่อธัมมชโยจะพามาพบคุณยาย อาตมาพยายามพูดอวดอ้างความวิเศษของวิชามารให้ท่านฟังบ่อยๆ ก็อย่างที่บอกแล้ว ตั้งใจจะรับท่านเป็นลูกศิษย์ แต่ท่านไม่สนใจเลย กลับชี้ให้เห็นโทษว่าวิชาเหล่านี้เป็นเดรัจฉานวิชา จะนำความเดือดร้อนมาให้ภายหลัง  แล้วสรรเสริญวิชาที่คุณยายจะสอนให้ทุกวัน อาตมาก็สนใจแต่เรื่องนรก-สวรรค์เท่านั้น ..."

วันหนึ่ง คุณเผด็จอยากจะลองวิชา “ดับพิษน้ำมัน” จึงนัดให้เพื่อนๆมาดูกัน โดยทุกครั้งเมื่อเอามือจุ่มลงไปในกระทะกล้วยทอดที่มีน้ำมันร้อนๆ ท่านเคยเอามือจุ่มลงไปได้โดยมือไม่พองไม่ร้อน แต่สังเกตว่าครั้งใดที่มีคุณไชยบูลย์อยู่ด้วย พอยื่นมือเข้าไปใกล้ๆไอร้อน ก็รู้สึกร้อนจัดจนต้องหดมือกลับ ทำให้สงสัยว่าคุณไชยบูลย์ต้องมีอะไรดี ต่อมาคิดที่จะประลองฤทธิ์โดยเสกปรอทใส่มือคุณไชยบูลย์ ก็ทำไม่สำเร็จ ภายหลังจึงทราบว่าคุณไชยบูลย์ เป็นนักปฏิบัติธรรมของสำนักวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และฝึกจนบรรลุธรรมกาย

แม้แต่อาจารย์ผู้ที่มีชื่อเสียงเลื่องลือในวิชามารนั้น เมื่อมีการทดลองวิชาทั้งหมดต่อหน้าคุณไชยบูลย์ ก็แสดงฤทธิ์ไม่ออก วิชาทั้งหลายก็เสื่อมหมดไม่มีอิทธิฤทธิ์อย่างใดเลย สู้อำนาจวิชชาธรรมกายไม่ได้

“...ตั้งแต่นั้นมาก็เลยเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าวิชาพระพุทธเจ้าดีกว่า และยังรู้เพิ่มเติมอีกว่า วิชามารทำให้ตกนรกได้ เลยเลิกวิชามารเด็ดขาด ยกตำราให้คุณยายอาจารย์เผาทิ้ง...”

“...คำอธิบายสั้นๆของคุณไชยบูลย์ คือ คนเราถ้าจะเปรียบแล้วก็เหมือนตู้วิทยุ สมาธิเหมือนเครื่องรับวิทยุ ภายในตู้ ถ้าเครื่องรับดีก็จะสามารถรับคลื่นเสียงได้ชัดเจน ทั้งคลื่นสั้นคลื่นยาวทั้งในระยะไกลและใกล้ ส่วนจะเลือกรับคลื่นที่ส่งมาจากมารหรือจากพระนั้น แล้วแต่ผู้ฟังหรือจิตของเราเองว่าจะฝักใฝ่ไปในทางใด...”

ตั้งแต่นั้นมา คุณเผด็จก็ติดตามคุณไชยบูลย์ไปศึกษาธรรมปฏิบัติกับคุณยายอาจารย์จันทร์ ขนนกยูง ที่บ้านธรรมประสิทธิ์ในวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ต่อมาท่านได้เป็นกำลังสำคัญท่านหนึ่งในหมู่คณะที่ร่วมบุกเบิกสร้างวัดพระธรรมกาย โดยรับนโยบายจากพระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี หรือ หลวงพ่อธัมมชโย (นามเดิม ไชยบูลย์ สุทธิผล)  เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และคุณยายอาจารย์จันทร์ ขนนกยูง เป็นครูบาอาจารย์และที่ปรึกษา

หลังจากเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ ท่านได้รับมอบหมายรับผิดชอบด้านงานเทศน์สอนและอบรมสร้างพระให้เป็น “พระแท้” สร้างคนให้เป็น "คนดี" ทำให้มีโครงการอบรมพระภิกษุสามเณรธรรมทายาท, โครงการอบรมทหาร ตำรวจ ครู ข้าราชการในหน่วยราชการต่างๆ ตลอดจนบริษัทเอกชนอีกมากมายหลายแห่ง อีกทั้งขยายงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่ศูนย์สาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตั้งแต่ปีแรกจวบจนปัจจุบันนี้ แม้มีสิริอายุ 72 ปี ท่านก็ยังทำงานตลอดมา

พระภาวนาวิริยคุณมีปกติวิสัยแห่งความเป็นครูผู้เปี่ยมล้นคุณธรรม ทั้งมีจิตกอปรด้วยความเป็นกัลยาณมิตร  อุทิศตัวทุ่มเทให้งานอบรมเทศน์สอนและงานเขียนหนังสือธรรมะที่เป็นผลงานอันทรงคุณค่ามากมายประมาณกว่า 136 เล่ม ทั้งนี้ได้มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษอีกหลายเล่ม รวมทั้งที่จัดทำเป็นเทปและวีดีโอเทปอีกมากมาย ตัวอย่างชื่อผลงานหนังสือที่เป็นที่รู้จัก และใช้เป็นคู่มือการดำเนินชีวิต เช่น มงคลชีวิต 38 ประการ, พระแท้, หลวงพ่อตอบปัญหา,  เสขิยวัตร (ต้นบัญญัติมารยาทไทย), ก่อนไปวัด, คนดีที่โลกต้องการ, แด่นักสร้างบารมี, แม่แบบคนดี, รัฐศาสตร์เชิงพุทธ, เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ, คัมภีร์กู้วิกฤตชาติ, ครอบครัวอบอุ่น, บทฝึกลูกรัก, ศาสตร์และศิลป์แห่งความเป็นครู และ อัตชีวประวัติของพระเผด็จ ทตฺตชีโว ในหนังสือเล่าเรื่องยาย เป็นต้น

โดยทั่วไปแล้ว การอ่านหนังสือดีๆสักเล่ม ย่อมจะทราบอัธยาศัยของผู้แต่ง ในที่นี้คือ พระภาวนาวิริยคุณ ที่ท่านเป็นบุคคลที่น่าเคารพ น่าเลื่อมใส เป็นผู้รักธรรมะเป็นชีวิตจิตใจ เป็นผู้ที่ทุ่มเทอุทิศชีวิตเพื่องานพระพุทธศาสนามาตลอด เป็นพระแท้ที่ควรแก่การเทิดทูนบูชา เป็นครูบาอาจารย์ที่ชี้หนทางสวรรค์ สอนให้รักบุญกลัวบาป จึงเป็นโอกาสอันควรค่าอย่างยิ่งที่เหล่าศิษยานุศิษย์จะได้มาร่วมกันมุทิตาสักการะในวาระครบรอบ 72 ปี เพื่อน้อมรับฟังโอวาทอันทรงคุณค่าและบูชาธรรม ในวันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคมศกนี้ ณ วัดพระธรรมกาย ปทุมธานี

บทความอื่นๆในหมวดนี้