“ธรรมกาย” คือกายตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, “วิชชา” แปลว่า ความรู้แจ้ง, “วิชชาธรรมกาย”แปลว่า ความรู้แจ้งเรื่องธรรมกาย, หมายถึงความรู้แจ้งที่เกิดจากการเห็นแจ้งด้วยธรรมจักขุของพระธรรมกายอันเป็นแก่นแท้ดั้งเดิมของพระพุทธศาสนา สามารถกำจัดทุกข์ได้ เป็นชั้นๆ จนหมดกิเลสเข้าถึงบรมสุข คือ พระนิพพาน
คำว่า“ธรรมกาย”
มีการพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เมื่อพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี(สดจนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ได้ปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาจนได้บรรลุธรรมกายเมื่อวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ณ วัดโบสถ์บน ต.บางคูเวียงอ.บางกรวย จ.นนทบุรีในกลางพรรษาที่ ๑๒ ของท่าน หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ เกิดในสมัยรัชการที่ ๕ ท่านจึงตัดสินใจออกบวช เมื่ออายุได้ ๒๒ ปี ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ณ วัดสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี โดยมีพระอาจารย์ดี วัดประตูสาร เป็นพระอุปัชฌาย์
ศึกษาทั้งปริยัติและปฏิบัติ
นับแต่วันแรกที่บวชท่านก็เริ่มฝึกธรรมปฏิบัติทุกวันตลอดมาควบคู่ไปกับการเรียนคันถธุระ หลังจากบวชได้ ๗ เดือนเศษจึงเข้ามาเรียนในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเป็นเวลาถึง ๑๑ พรรษาจนเชี่ยวชาญภาษาบาลี เมื่อสามารถแปลคัมภีร์มหาสติปัฏฐานได้ดังที่เคยตั้งใจแล้วจึงตั้งใจปฏิบัติวิปัสสนาธุระอย่างจริงจังท่านได้มีโอกาสศึกษาธรรมปฏิบัติจากพระอาจารย์หลายท่านดังนี้ พระอาจารย์โหน่ง อินฺทสุวณฺโณ วัดสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี, หลวงปู่เนียมวัดน้อย จ.สุพรรณบุรี, พระสังวรานุวงษ์ วัดราชสิทธาราม กรุงเทพฯ, พระครูญานวิรัติ(โป๊) วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพฯ,พระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำ ธนบุรีซึ่งล้วนแต่เป็นพระอาจารย์ที่ทรงคุณในทางปริยัติ ปฏิบัติ ศีลาจารวัตรงดงามและมีลูกศิษย์มากมาย
บรรลุธรรมกาย
ในวันเพ็ญเดือน ๑๐ระหว่างกลางพรรษาที่ ๑๒ ของหลวงปู่วัดปากน้ำ หลังกลับจากบิณฑบาต ท่านได้เข้าปฏิบัติธรรมในอุโบสถ ท่านได้หลับตาภาวนา “สัมมา อะระหัง”จนกระทั่งใจหยุดเป็นจุดเดียว กันเห็นเป็นดวงใสสว่างอยู่ที่ศูนย์กลางกาย รู้สึกสบายใจอย่างบอกไม่ถูกแม้ขณะช่วงฉันเพล ดวงใสก็ยังคงอยู่ที่ศูนย์กลางกาย หลังจากฟังพระปาฏิโมกข์ ทบทวนศีล๒๒๗ ข้อของพระ ในช่วงเย็นท่านจึงได้มานั่งสมาธิต่อโดยใจยังอยู่ในกลางดวงใสสว่างที่ศูนย์กลางกายทำใจหยุดนิ่งไปจนกระทั่งดวงสว่างใสมากยิ่งขึ้น และมีเสียงดังมาจากดวงสว่างนั้นว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” พร้อมกับมีจุดสว่างใสอยู่ในกลางดวงสว่างนั้น ท่านจึงมองไปที่จุดสว่างนั้นด้วยใจที่นิ่งๆ จุดสว่างนั้นจึงค่อยๆขยายโตขึ้นมาแทนดวงเก่าท่านจึงมองเข้ากลางจุดเล็กที่อยู่กลางดวงใสก็ได้เห็นดวงใหม่ที่สว่างใสมากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็เห็นกายในกายที่ซ้อนอยู่ภายใน จนกระทั่งถึง “ธรรมกาย” เป็นองค์พระนั่งสมาธิเกตุดอกบัวตูม ใสสว่างเมื่อท่านได้มาทบทวนสิ่งที่ท่านได้เข้าถึงทำให้ท่านได้ทราบว่าการเข้าถึงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องทำใจให้หยุดให้นิ่งโดยหน้าที่ของใจ ๔ อย่าง คือ เห็น จำ คิด รู้ ต้องรวมหยุดนิ่งอยู่เป็นหนึ่งเดียว(เอกัคคตา) ต่อมาท่านจึงกล่าวสรุปไว้เป็นประโยคสั้นๆว่า “หยุดเป็นตัวสำเร็จ” และมีการรวบรวมวิธีการปฏิบัติสมาธิตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งลึกซึ้งไว้ในหนังสือ “คู่มือสมภาร” สำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ “ธรรมกาย” ในคัมภีร์เถรวาท
คำว่า “ธรรมกาย” มีปรากฏหลักฐานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาเฉพาะในคัมภีร์ของฝ่ายเถรวาทมีคำว่า “ธรรมกาย” ปรากฏอยู่มากมาย กว่า ๔๐ แห่ง อาทิในพระไตรปิฎกปรากฏอยู่ในพระสูตร ๔ แห่ง, ในอรรถกามีปรากฏ ๒๕ แห่ง, ในฎีกาพระวินัยที่ชื่อว่า “สารัตถทีปนี” กล่าวถึง “ธรรมกาย” ในฉบับภาษาบาลีประมาณ ๖ แห่ง, ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคกล่าวถึง “ธรรมกาย” ๒ แห่ง, คัมภีร์มิลินทปัญหา ๑ แห่ง มีตัวอย่างดังนี้
“...ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ...เพราะคำว่าธรรมกายก็ดี พรหมกายก็ดี ธรรมภูติก็ดี พรหมภูติก็ดี เป็นชื่อของพระตถาคต...” “...นักปราชญ์เหล่าใดมีศีลบริสุทธิ์ ....นักปราชญ์เหล่านั้นย่อมเป็นพระสยัมภูปัจเจกชินเจ้า มีธรรมใหญ่ มีธรรมกายมาก มีจิตเป็นอิสระ ...” “...ชนทั้งหลายไม่อาจให้พระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งทรงแสดงพระธรรมกาย และความเป็นหน่อเนื้อรัตนะทั้งสิ้นให้กำเริบได้ ใครได้เห็นแล้วจะไม่เลื่อมใสเล่า...” “...ข้าแต่พระสุคตเจ้า รูปกายของพระองค์นี้ อันหม่อนฉันทำให้เจริญเติบโต ธรรมกายอันน่าเพลิดเพลินของหม่อนฉัน อันพระองค์ทำให้เจริญเติบโตแล้ว...” “ธรรมกาย” ในคัมภีร์ต่างๆ
คำว่า “ธรรมกาย” ยังปรากฏในแหล่งความรู้ต่างๆอย่างน่าสนใจ อาทิ ในหนังสือ “ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๓” กล่าวว่าในศิลาจารึกหลักที่ ๕๔ พ.ศ. ๒๐๙๒ ที่จารึกไว้เป็นภาษาไทยและมคธมีข้อความกล่าวถึงเรื่องราวของพระธรรมกายไว้, ในหนังสือ “ปฐมสมโพธิกถา”ได้กล่าวไว้ อย่างชัดเจนว่า พระอุปคุตต์เห็นพระธรรมกาย นั่นคือพระธรรมกายนั้นสามารถเห็นได้, ใน จารึกลานทอง กล่าวถึง “ส่วนสูงของพระธรรมกาย” ไว้ด้วย ฯลฯ
คู่มือปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน ๕ สาย
ที่ผ่านมา ศูนย์ประสานงานสำนักปฏิบัติประจำจังหวัดแห่งประเทศไทยโดยมติมหเถรสมาคม ได้จัดทำหนังสือ “คู่มือปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน ๕ สาย” ซึ่งได้รวบรวมวิธีการสอนสมาธิของสำนักปฏิบัติใหญ่ ๕ สาย คือ พุทโธ อานาปานสติยุบพอง รูปนาม และสัมมาอรหัง ถือว่าเป็นการรับรองจากคณะสงฆ์ส่วนกลางว่าวิธีการสอนสมาธิของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นไปตามแนวสติปัฏฐาน ๔ สมควรให้สามารถปฏิบัติได้เพื่อให้ถึงธรรมที่ควรรู้ ได้แก่ สัมมาปฏิปทามรรค เป็นต้น
พระของขวัญศักดิ์สิทธิ์ด้วย “ธรรมกาย”
ในช่วงที่หลวงปู่วัดปากน้ำยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้สนับสนุนการศึกษาของการคณะสงฆ์ จัดสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมซึ่งเป็นที่มาของ “พระของขวัญวัดปากน้ำ” ซึ่งสิ่งยืนยันความศักดิ์สิทธิ์ของของวิชชาธรรมกายที่หลวงปู่วัดปากน้ำท่านได้เข้าถึงและ เป็นเครื่องตรึกระลึกนึกถึงบุญที่ได้สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมร่วมกับท่านรวมทั้งให้เป็นนิมิตหรือเป็นอุปกรณ์ในการทำสมาธิเพื่อเป็นพุทธานุสสติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ เพื่อปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระธรรมกายภายในตัวด้วยนั่นเอง
๑๒ กันยา วันครูวิชชาธรรมกาย
ทุกๆปี ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันที่หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ บรรลุธรรมศิษยานุศิษย์จากทั่วโลก จัดให้มีพิธีบูชาครูวิชชาธรรมกาย ด้วยการปฏิบัติเจริญสมาธิภาวนาเพื่อเป็นการปฏิบัติบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์ ในปีนี้วันครูวิชชาธรรมกาย ครบรอบ ๙๔ ปี ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔ ที่วัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี ได้จัดพิธีบูชาครูวิชชาธรรมกาย ระหว่างเวลา ๙.๐๐-๑๘.๓๐ น. โดยช่วงสายปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาช่วงบ่ายมีพิธีปิดแผ่นทองรูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย
จึงขอเชิญชวนศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญทั้งในและต่างประเทศ ร่วมปฏิบัติบูชาแด่ครูบาอาจารย์ในวันดังกล่าว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ www.dhammakaya.net, www.dmc.tv หรือโทร. (๐๒) ๘๓๑-๑๐๐๐
ข่าวประชาสัมพันธ์: สำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกายและมูลนิธิธรรมกาย www.dhammakay.net
Tel. (๐๒) ๘๓๑-๑๗๒๓ fax. (๐๒) ๘๓๑-๑๗๒๒