กฐินธรรมชัย ประจำปี พ.ศ.2557 วัดพระธรรมกาย :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

กฐินธรรมชัย ประจำปี พ.ศ.2557 วัดพระธรรมกาย

กฐินธรรมชัย ประจำปี พ.ศ.2557 วัดพระธรรมกาย

กัลยาณมิตรทั่วโลกร่วมทอดกฐินสามัคคีวัดพระธรรมกาย

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา ณ สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี คณะสาธุชนกัลยาณมิตรทั้งในและต่างประเทศ พากันเดินทางมาร่วมพิธีทอดกฐินธรรมชัยสร้างทุกสิ่ง ประจำปี พ.ศ.2557 กันอย่างเนืองแน่น สำหรับพิธีกรรมในครั้งนี้ ได้เริ่มขึ้นในภาคเช้า สาธุชนทุกท่านได้ร่วมกันตักบาตรแด่คณะสงฆ์กว่า 5,000 รูป ต่อด้วยสวดมนต์ทำวัตรเช้า นั่งสมาธิปฏิบัติธรรม ประกอบพิธีกรรมบูชาข้าวพระ และถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน

ในภาคบ่ายพิธีกรรมเริ่มต้นด้วย ริ้วขบวนอัญเชิญผ้ากฐินเข้าสู่ศูนย์กลางพิธี นำโดย กัลยาณมิตร ดร.กฤษฎา จ่างใจมนต์ และ กัลยาณมิตรสอง วัชรศรีโรจน์ เป็นประธานกฐิน ได้รับความเมตตาจาก พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เป็นประธานสงฆ์ โดยมีพระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว) รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย กล่าวรับเผดียงสงฆ์ พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ กล่าวอปโลกน์กฐิน ซึ่งในปีนี้ พระครูวินัยธรไพบูลย์ ธัมมวิปุโล ได้รับผ้ากฐิน โดยมีกัลยาณมิตรลลิตภัทร เจนจบ เป็นผู้สวมชุดมหาลดาประสาธน์ และในภาคค่ำ เป็นพิธีกรานกฐิน ณ พระอุโบสถวัดพระธรรมกาย

คำว่า “กฐิน” แปลว่า “สะดึง” หมายถึงไม้สำหรับขึงผ้าให้ตึง เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการตัดเย็บ สะดึงมีรูปทรงทั้งแบบสี่เหลี่ยมและวงกลม ส่วนคำว่า “ทอด” เป็นคำกริยา หมายถึงการวาง การพาด เป็นต้น

การทอดกฐิน คือ การน้อมนำผ้าจีวรถวายแด่คณะสงฆ์ เทศกาลทอดกฐินจึงเสมือนเป็นฤดูกาลเปลี่ยนผ้าจีวรใหม่ของพระภิกษุสงฆ์

การทอดกฐิน จัดเป็นบุญที่มีอานิสงส์มาก เนื่องจากเป็นบุญพิเศษที่ทำได้ยากกว่าบุญอื่น ด้วยสาเหตุหลายประการ ดังนี้ คือ

  1. จำกัดด้วยเวลา  กล่าวคือ ต้องถวายภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่วันออกพรรษา
  2. จำกัดชนิดทาน กล่าวคือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอื่นไม่ได้
  3. จำกัดคราว กล่าวคือ แต่ละวัดรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น
  4. จำกัดผู้รับ กล่าวคือ พระภิกษุรับกฐินได้จะต้องจำพรรษาที่วัดนั้นครบไตรมาส (3 เดือน) และจะต้องมีจำนวนตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไป
  5. จำกัดงาน กล่าวคือ เมื่อพระภิกษุรับผ้ากฐินแล้ว จะต้องกรานกฐินให้เสร็จภายในวันนั้น
  6. จำกัดของถวาย กล่าวคือ ไทยธรรมที่ถวายต้องเป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวรเท่านั้น

สำหรับอานิสงส์การถวายผ้ากฐิน ในทางพระพุทธศาสนาเชื่อว่า ในชาติสุดท้ายหากเกิดเป็นชายจะได้บวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา ซึ่งถือเป็นสุดยอดของการบวช หากเกิดเป็นหญิงจะได้เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ที่เป็นสุดยอดของเครื่องประดับในยุคพุทธกาล ซึ่งในพระไตรปิฎกบันทึกไว้ว่า ในยุคของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน มีสตรีผู้มีบุญมากเพียง 3 ท่านเท่านั้น ที่ได้ครอบครองเครื่องประดับนี้ ได้แก่ มหาอุบาสิกาวิสาขา, นางมัลลิกา ภรรยาของพันธุลเสนาบดี และลูกสาวเศรษฐีท่านหนึ่ง ณ กรุงพาราณาสี

ทบทวนบุญกฐินธรรมชัย

 

บทความที่เกี่ยวข้อง: กฐิน

บทความอื่นๆในหมวดนี้