โครงการบรรพชาสามเณรฟื้นฟูพระพุทธศาสนาทั่วไทย
หลักการและเหตุผล
จากสถานการณ์ปัจจุบัน สื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลต่อทุกชีวิตของครอบครัว การถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารโดยขาดการใช้วิจารณญาณ ส่งผลให้แต่ละคนแยกตัวเองออกมาจากสังคมปกติ และยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษา อันเนื่องมาจากขาดวินัยในตนเอง ขาดความอบอุ่นจากครอบครัว เกิดความคิดเห็นแตกแยก โดยได้รับข้อมูลไม่ครบรอบด้าน ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์กลายเป็นปัญหาสังคมแบบไม่รู้จบ
ชมรมพุทธศาสตร์สากลในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ และองค์กรภาครัฐและเอกชน จึงได้จัดโครงการ “บรรพชาสามเณรฟื้นฟูพระพุทธศาสนาทั่วไทย” ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มุ่งให้นักเรียนทุกคนมีคุณธรรม จริยธรรม ความสำนึกในความเป็นไทย มีจิตสาธารณะ อยู่อย่างพอเพียง มีความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมพหุวัฒนธรรม ด้วยการปฏิบัติตามหลักธรรมเป็นนิสัย
การบรรพชาสามเณรทั่วไทย เป็นการสร้างพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมใหม่ให้กับเยาวชน หลังลาสิกขา จึงเป็นการปรับพฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทยให้เข้าสู่วิถีชีวิตที่ดีงาม เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นศิษย์ที่ดีของครูอาจารย์ เป็นพลเมืองดีของชาติ และเกิดพลังสืบสานพระพุทธศาสนาสืบไป
วัตถุประสงค์
- เพื่อปลูกฝัง ความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความสามัคคี ในหมู่เยาวชน ให้มีจิตสาธารณะ, ใฝ่สันติ, และมีที่พึ่งอย่างแท้จริงในตนเอง
- เพื่อหล่อหลอมเด็กและเยาวชนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ให้เป็นคนดีมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์จนติดเป็นนิสัย
- เพื่อปรับพฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทยให้เข้าสู่วิถีชีวิตที่ดีงาม โดยการสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่
- เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชนไทยรู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมพหุวัฒนธรรม
- เพื่อตระหนักรู้ ในคุณค่าของประเพณี วัฒนธรรมไทยและสามารถนำไปใช้ได้อย่างภาคภูมิ
- เพื่อส่งเสริมสนับสนุน และสร้างความตระหนักรู้ให้กับเด็กและเยาวชนไทย ในคุณค่าของประเพณี วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมชาวพุทธ และสามารถนำหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา การปฏิบัติตามหลักศีล 5 ไปใช้ในวิถีชีวิตได้อย่างภาคภูมิ
เป้าหมาย
เป้าหมายเชิงปริมาณ
- ปี พ.ศ.2558 รุ่นทดลองนำร่อง ร้อยละ 10 ของนักเรียนชาย จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ถึงจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในเขตพื้นที่การศึกษา
- ปี พ.ศ.2559 จากเป้าหมายเชิงปริมาณปีการศึกษา พ.ศ.2557 ขยายเครือข่ายสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ เพิ่มขึ้น 3 – 5 เท่า
เป้าหมายเชิงคุณภาพ
- เด็กและเยาวชนมีนิสัยดีด้านความสะอาด มีระเบียบ สุภาพ ตรงเวลา รักการนั่งสมาธิมีน้ำใจเอื้อเฟื้อ
- เด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมห่างไกลยาเสพติด อบายมุข ความก้าวร้าวรุนแรง การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ และเป็นศิษย์ที่ดีของครูอาจารย์
- เด็กและเยาวชนมีภูมิคุ้มกันตนเอง ปฏิบัติศีล 5 และรู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม
- สามเณรที่ผ่านการบรรพชา ร้อยละ 95 มีคุณลักษณะใฝ่ เรียนรู้ ใฝ่ ดี อยู่ ร่วมกับผู้อื่นได้ มีทักษะการแก้ปัญหา มีทักษะในการทำงาน อยู่อย่างพอเพียง และมีพฤติกรรมที่ดีช่วยเหลือบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและพระพุทธศาสนา
ระยะเวลาดำเนินการ พ.ศ.2557 – พ.ศ.2559
- ระยะเวลาเตรียมการ ด้านการจัดหาทรัพยากรต่างๆ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ถึงวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2559
- ระยะเวลาดำเนินการ
ลำดับที่ | กิจกรรมหลัก | พ.ศ.2557 | พ.ศ.2558 |
1. | จัดประชุมชี้แจงผู้บริหารและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง | มิถุนายน | มิถุนายน |
2. | จัดอุปสมบทพระพี่เลี้ยง | โครงการฯ ดำเนินการ | โครงการฯ ดำเนินการ |
3. | จัดอบรมพระวิทยากร พระพี่เลี้ยงและผู้ประสานงานศูนย์ | โครงการฯ ดำเนินการ | โครงการฯ ดำเนินการ |
4. | รับสมัคร คัดเลือก กลุ่มโรงเรียนเป้าหมาย อาทิ โรงเรียน V-Star, โรงเรียนในฝัน, โรงเรียนดีศรีตำบล และโรงเรียนทั่วไป | 1 ส.ค. - 30 ก.ย. | 1 ส.ค. - 30 ก.ย. |
5. | สัมมนาชี้แจงโครงการ และรับสื่อฝึกนักเรียนเตรียมบวชเบื้องต้น (ตามวัน เวลา สถานที่ ที่กำหนด) | สิงหาคม - ตุลาคม | สิงหาคม - ตุลาคม |
6. | ส่งใบสมัครนักเรียนเตรียมบวช | ภายใน วันที่ 25 ตุลาคม | ภายในวันที่ 24 ตุลาคม |
7. | สัมมนา และรับสื่อฝึกอบรมนักเรียนเตรียมบวช | วันที่ 25 ตุลาคม | วันที่ 24 ตุลาคม |
8. | โรงเรียนฝึกนักเรียนเพื่อเตรียมบวชตามกระบวนการหลักสูตร | พ.ย.57 - ก.พ.58 | พ.ย.58 - ก.พ.59 |
9. | โครงการแจ้งศูนย์อบรมบรรพชาสามเณรให้ทุกโรงเรียนทราบ | มกราคม - กุมภาพันธ์ | มกราคม - กุมภาพันธ์ |
ลำดับที่ | กิจกรรมโครงการช่วงอบรมฯ | พ.ศ.2557 | พ.ศ.2558 |
10. | สามเณรพี่เลี้ยง (จบการศึกษาชั้น ม.2 - ม.6) เข้าอบรม | วันที่ 7 มีนาคม | วันที่ 9 มีนาคม |
11. | สามเณรพี่เลี้ยง (จบการศึกษาชั้น ม.2 - ม.6) บรรพชา | วันที่ 14 มีนาคม | วันที่ 16 มีนาคม |
12. | นักเรียนเตรียมบวช (จบการศึกษาชั้น ป.2 - ม.1) เข้าอบรม | วันที่ 23 มีนาคม | วันที่ 23 มีนาคม |
13. | สามเณรทั่วไทยรวมใจเพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนา | วันที่ 4 เมษายน | วันที่ 2 เมษายน |
14. | สิ้นสุดการอบรม | วันที่ 23 เมษายน | วันที่ 23 เมษายน |
15. | สรุปผลการประเมินโครงการ | วันที่ 30 พฤษภาคม | วันที่ 30 พฤษภาคม |
หมายเหตุ: กิจกรรมอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม
ขั้นตอนการทำงาน
- จัดตั้งคณะกรรมการหลายภาคี ประกอบด้วย ฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายหลักสูตรการฝึกอบรม ฝ่ายผลิตและพัฒนาสื่ออบรม ฝ่ายจัดหาเงินทุนสนับสนุนโครงการ ฝ่ายทะเบียน ฝ่ายพัฒนาพระวิทยากรและพี่เลี้ยง ฝ่ายจัดหาอัฐบริขาร ฝ่ายวิจัยและสรุปผลการประเมินโครงการ ฯลฯ
- นำเสนอโครงการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- จัดการประชุมชี้แจงผู้บริหารระดับเขตพื้นที่การศึกษา และหน่วยงานต่างๆ ในช่วงวันหยุดราชการ
- จัดประชุมเตรียมการ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูพี่เลี้ยงที่มีจิตอาสาช่วยงานฝึกอบรมสามเณรในพื้นที่
- รับสมัครเด็กและเยาวชนที่สมัครใจบรรพชาในแต่ละปี
- เตรียมความพร้อมศูนย์ฝึกอบรมแต่ละอำเภอ / ตำบล
- จัดตั้งทีมฝึกอบรมให้สอดคล้องกับจำนวนสามเณร และจำนวนศูนย์ฝึกอบรม
- เตรียมวัสดุ อุปกรณ์ โสต สื่อ อัฐบริขาร ทุนสนับสนุนโครงการ
- ดำเนินการอบรมเตรียมการก่อนบวช
- บรรพชาสามเณรรุ่นต่างๆ
- ฝึกอบรมตามหลักสูตร
- ติดตามประเมินผล
ผู้รับผิดชอบโครงการ
- ชมรมพุทธศาสตร์สากลในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
- สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา / หน่วยงานทางการศึกษา ที่เข้าร่วมโครงการ
- หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
เนื้อหาหลักสูตรฝึกเตรียมความพร้อมก่อนการอบรมสามเณร
การฝึกอบรมประกอบด้วยภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ณ สถานศึกษาของตนเอง ในช่วงภาคการศึกษาที่ 2 / 2557 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมการเข้ารับการอบรมสามเณรภาคฤดูร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
ภาคทฤษฎี
ศึกษา พุทธประวัติ หลักธรรมในพระพุทธศาสนาเบื้องต้น ประวัติสามเณรในสมัยพุทธกาล ข้อวัตรปฏิบัติของสามเณร ฯลฯ ผ่านสื่อมัลติมิเดียที่จัดทำเป็นหลักสูตรและชั่วโมงเรียนรู้ของโครงการสัปดาห์ละ 1 คาบเรียน
ภาคปฏิบัติ
นักเรียนชายที่จะเข้าร่วมโครงการบรรพชาสามเณรฯ จะได้รับสมุดบันทึกกิจกรรมความดี โดยมีเนื้อหาภาพรวม ดังนี้
- บทฝึกกิจวัตรความดี ในชีวิตประจำวัน เช่น ไม่นอนตื่นสาย ตื่นขึ้นมาเก็บที่นอนทันที, ฝึกรักษาศีล 5, ฝึกรักษาศีล 8 ในวันพระ, ช่วยเหลืองานบ้านและงานโรงเรียน เป็นต้น
- ฝึกซ้อมคำกล่าวบทขานนาค คำขอสรณคมน์และศีล
- ฝึกกิจกรรมการทำงานเป็นทีม การมีระเบียบวินัย การอยู่ร่วมในสังคม และกิจกรรมทางศาสนพิธี เป็นต้น
เนื้อหาหลักสูตรฝึกอบรมสามเณร
การฝึกอบรมประกอบด้วยภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อให้สอดคล้องกับวัย ความสนใจและวิธีการเรียนรู้ และมีสื่อการเรียนรู้ประกอบการอบรม พร้อมการวัดประเมินผล กล่าวโดยสรุปมีหัวข้อเรื่อง ดังนี้
ภาคทฤษฎี
พุทธประวัติ ประวัติพุทธสาวก – พุทธสาวิกา หลักธรรมในพระพุทธศาสนา ฯลฯ
ภาคปฏิบัติ
- การสวดมนต์ ทำวัตรเช้า – เย็น
- การฝึกทำสมาธิให้เกิดปัญญา
- การออกเดินบิณฑบาตโปรดญาติโยม
- กิจกรรมการออกกำลังกาย
- กิจกรรมการทำความสะอาดเสนาสนะแบบจิตอาสา
- กิจกรรมการหล่อหลอมพุทธบุตร
- กิจกรรมกลุ่ม “1 โครงการพัฒนาคุณธรรมเพื่อนช่วยเพื่อน” หลังจากลาสิกขากลับไปโรงเรียน
- กิจกรรมการเดินธุดงค์ แสวงบุญพัฒนาวัด และกิจกรรมสร้างกระแสศีลธรรมในชุมชน
สื่อการเรียนรู้
- คู่มือบริหารจัดการฝึกอบรม
- คู่มือประจำตัวสามเณร บทสวดมนต์
- DVD ประกอบการสอนตามหลักสูตร เช่น Animation, ภาพถ่ายจากสถานที่จริงในสังเวชนียสถาน 4 แห่ง, PowerPoint เป็นต้น
- หนังสืออ่านประกอบประจำศูนย์
- แฟ้มสะสมผลงานสามเณร (Portfolio)
- กระดาษ อุปกรณ์เครื่องเขียน
- คอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์เอกสาร เครื่องฉายภาพ จอรับภาพ โทรทัศน์ ฯลฯ
- แบบประเมิน ข้อสอบวัดความรู้
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- เด็กและเยาวชนได้ผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา และมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
- เด็กและเยาวชนได้รับการพัฒนา ปลูกฝังด้านคุณธรรม จริยธรรม และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
- เด็กและเยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะปฏิบัติด้านความมีวินัย เคารพ อดทน อย่างยั่งยืน
- เด็กและเยาวชนได้รับการพัฒนา มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ใฝ่ดี สอดคล้องกับจุดเน้นมาตรการ และตัวชี้วัดความสำเร็จกลยุทธ์ที่ 2 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- ชุมชนมีความรัก ความสามัคคี และมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ของเด็กและเยาวชน
การประสานงานในโครงการฯ
- วันเวลาทำการ: ทุกวันจันทร์ – เสาร์ เวลา 09.00 – 11.00 น. และ 13.00 – 17.00 น.
- ที่อยู่: โครงการบรรพชาสามเณรฟื้นฟูพระพุทธศาสนาทั่วไทย อาคารชมรมพุทธศาสตร์สากลฯ เลขที่ 23/2 หมู่ 7 ตำบลคลองสาม อำคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
- e-mail: [email protected]
- โทรศัพท์: (ส่วนกลาง) 099-286-5620, 099-286-5621
สิ่งที่สถานศึกษาจะได้รับ
เมื่อสถานศึกษาได้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ สถานศึกษาจะได้รับสิทธิ์พิเศษ ดังนี้
- ชุดสื่อนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อฝึกนักเรียนเตรียมพร้อมเข้ารับการอบรมสามเณร
- ทุนสำหรับดำเนินการโครงการฯ
- ใบเกียรติบัตร สำหรับทุกสถานศึกษา ผู้บริหาร และครูผู้ประสานงานที่เข้าร่วมโครงการฯ
- โล่เกียรติยศ จะมอบสำหรับสถานศึกษาที่ปฏิบัติตามขั้นตอนโครงการฯ ได้ครบถ้วน และมีนักเรียนมาบรรพชาสามเณร อย่างน้อย 1 ทีม (45 รูป) ขึ้นไป
- ใบวุฒิบัตร สำหรับนักเรียนที่ผ่านการฝึกอบรมสามเณรครบตามกำหนดในโครงการฯ
- หนังสือรับรองการเทียบโอนหลักสูตรการเรียนรู้ในการฝึกอบรมสามเณร กับรายวิชาในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม จากชมรมพุทธศาสตร์สากล ในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
การรับทุนสำหรับดำเนินโครงการบรรพชาสามเณรฟื้นฟูพระพุทธศาสนาทั่วไทย
สถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ และปฏิบัติตามระเบียบการได้ครบถ้วน จะได้รับทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการตามเกณฑ์ที่กำหนด ดังนี้
- รับทุนดำเนินการครั้งที่ 1 จำนวน 3,000 บาทต่อทีม (45 คน) เมื่อส่งใบสมัครเข้าร่วมโครงการบรรพชาสามเณรฟื้นฟูพระพุทธศาสนาทั่วไทย และใบสมัครนักเรียนเตรียมบวช พร้อมลายเซ็นอนุญาตจากผู้ปกครอง ภายในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2557
- รับทุนดำเนินการครั้งที่ 2 เมื่อนักเรียนเตรียมบวชของท่าน ได้บวชบรรพชาเป็นสามเณร และเข้าร่วมงาน “สามเณรทั่วไทยรวมใจเพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนา” รับทุนดำเนินการเพิ่มอีก 4,000 บาทต่อทีม (45 คน)
สำหรับสถานศึกษาที่สามารถพานักเรียนเตรียมบวช มาบรรพชาเป็นสามเณร และมาร่วมงาน “สามเณรทั่วไทยรวมใจเพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนา” ได้มากกว่า 1 ทีม (45 คน) คณะกรรมการฯ จะพิจารณาเพิ่มทุนดำเนินการให้ 1 ทุน ต่อสามเณรที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 45 รูป ตัวอย่างเช่น
- สามเณร 1 ทีม (45 รูป) ได้รับทุนดำเนินการฯ จำนวน 1 ทุน
- สามเณร 2 ทีม (90 รูป) ได้รับทุนดำเนินการฯ จำนวน 2 ทุน
รายละเอียดการดำเนินการสำหรับโรงเรียน | จำนวนทุน |
1. สมัครเข้าร่วมโครงการ
|
3,000 บาท / ทีม |
2. นักเรียนเตรียมบวช ได้บรรพชาเป็นสามเณร และมาร่วมงาน "สามเณรทั่วไทยรวมใจเพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนา" | 4,000 บาท / ทีม |
รวมทุนดำเนินโครงการทั้งสิ้น | 7,000 บาท / ทีม |
หลักฐานที่ต้องเตรียมเพื่อรับทุน
- ใบสมัคร สณ.02
- ใบสมัครนักเรียนบรรพชาสามเณร 45 คน / ทีม
- แนบสำเนาหน้าสมุดบัญชี ธนาคารกรุงไทย (สำหรับโอนทุนในการดำเนินการ)
- แนบสำเนาบัตรประชาชน หรือ สำเนาบัตรข้าราชการ ของผู้บริหารหรือครูผู้ประสานงานโครงการ พร้อมลายเซ็น ชื่อ – สกุล (เขียนด้วยลายมือเท่านั้น) และเขียนข้อความ “สำนาถูกต้อง”