ธุดงค์ธรรมชัยเส้นทางพระผู้ปราบมาร ปีที่ 4 :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

ธุดงค์ธรรมชัยเส้นทางพระผู้ปราบมาร ปีที่ 4

ธุดงค์ธรรมชัยเส้นทางพระผู้ปราบมาร พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ปีที่ 4

ขอเชิญพุทธศาสนิกชนร่วมต้อนรับพระธุดงค์ 1,130 รูป ระหว่างวันที่ 2 – 28 มกราคม พ.ศ.2558 (ณ วันที่15 มกราคม พ.ศ.2558 มีการเพิ่มวันเดินธุดงค์เป็น 2 – 30 มกราคม พ.ศ.2558 รวม 29 วัน) เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา สืบสานวัฒนธรรมชาวพุทธ เสริมสิริมงคลต้อนรับศักราชใหม่ สร้างบุญใหญ่ให้แผ่นดิน

 

ธุดงค์ธรรมชัย “ธรรมยาตรา เพื่อฟื้นฟูศีลธรรมโลก

ธุดงค์ แปลว่า เครื่องกำจัดกิเลส

“ธุดงค์” เป็นวัตรปฏิบัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ แต่มิได้การบังคับ แล้วแต่ผู้ใดจะสมัครใจปฏิบัติ เป็นอุบายวิธีกำจัดขัดเกลากิเลส ทำให้เกิดความมักน้อยสันโดษยิ่งขึ้น ธุดงค์เป็นพุทธประเพณีที่มีมาตั้งแต่โบราณกาล เมื่อพระธุดงค์จาริกไปในที่ใด ชาวบ้านต่างพากันไปตักบาตร ถวายภัตตาหาร, น้ำปานะ, ประทีปโคมไฟ อุปัฏฐากบำรุงท่านด้วยความปีติยินดี แต่ทว่าภาพอันงดงามนี้ นับวันจะเลือนหายไป โครงการธุดงค์ธรรมชัย จึงบังเกิดขึ้นเพื่อฟื้นฟูการเดินธุดงค์ให้กลับคืนมา

ตามพระวินัย ธุดงควัตรมีพุทธานุญาตไว้ 13 ข้อ ดังนี้

  1. การถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร กล่าวคือ การใช้แต่ผ้าเก่าที่มีคนเขาทิ้งเอาไว้ตามกองขยะ, ข้างถนนบ้าง หรือผ้าห่อศพ นำผ้าเหล่านั้นมาซัก ย้อมสี เย็บต่อกันจนเป็นผืนใหญ่ แล้วนำมาใช้ งดเว้นจากการใช้ผ้าใหม่ทุกชนิด (บังสุกุล แปลว่า ฝั่งแห่งฝุ่น, กองฝุ่น, คลุกฝุ่น, เปื้อนฝุ่น)
  2. การถือผ้า 3 ผืน (ไตรจีวร) เป็นวัตร กล่าวคือ การใช้ผ้าเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น อันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ
  3. การถือบิณฑบาตเป็นวัตร กล่าวคือ การบริโภคอาหารเฉพาะที่ได้มาจากการรับบิณฑบาตเท่านั้น ไม่บริโภคอาหารที่มีผู้นิมนต์ไปฉันตามบ้าน
  4. ถือการบิณฑบาตตามลำดับบ้านเป็นวัตร กล่าวคือ จะรับบิณฑบาตโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง จะไม่เลือกว่าเป็นบ้านคนรวยหรือคนจน จะไม่เลือกว่าอาหารดีหรือไม่ดี หากมีผู้ใดใส่บาตรก็จะรับไปตามลำดับ ไม่ข้ามบ้านที่ไม่ถูกใจ
  5. ถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร กล่าวคือ ในแต่ละวันจะบริโภคอาหารเพียงครั้งเดียว เมื่อนั่งแล้วก็ฉันจนเสร็จ หลังจากนั้นจะไม่บริโภคอาหารอะไรอีกเลย นอกจากน้ำดื่มหรือน้ำปานะ
  6. ถือการฉันในบาตรเป็นวัตร กล่าวคือ จะนำอาหารทุกชนิดที่จะบริโภคในมื้อนั้น มารวมกันในบาตร แล้วจึงฉันอาหารนั้น เพื่อไม่ให้ติดในรสชาติของอาหาร
  7. ถือการห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร กล่าวคือ เมื่อรับอาหารมามากพอแล้ว ตัดสินใจว่าจะไม่รับอะไรเพิ่มอีกแล้ว หลังจากนั้นถึงแม้มีผู้ใดนำอะไรมาถวายเพิ่มอีก ก็จะไม่รับอะไรเพิ่มอีกเลย ถึงแม้อาหารนั้นจะถูกใจเพียงใดก็ตาม (ภัต แปลว่า อาหาร, ข้าว)
  8. ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร กล่าวคือ จะอยู่อาศัยเฉพาะในป่าเท่านั้น จะไม่อยู่ในหมู่บ้านเลย เพื่อไม่ให้ความพลุกพล่านวุ่นวายของเมืองมารบกวนการปฏิบัติ หรือเพื่อป้องกันการพอกพูนของกิเลส
  9. ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร กล่าวคือ จะพักอาศัยอยู่ใต้ต้นไม้เท่านั้น งดเว้นจากการอยู่ในสถานที่ซึ่งมีหลังคาที่สร้างขึ้นมามุงบัง
  10. ถือการอยู่กลางแจ้งเป็นวัตร กล่าวคือ จะอยู่แต่ในที่กลางแจ้งเท่านั้น จะไม่เข้าสู่ที่มุงบังใดๆเลย แม้แต่โคนต้นไม้ เพื่อไม่ให้ติดในที่อยู่อาศัย
  11. ถือการอยู่ในป่าช้าเป็นวัตร กล่าวคือ จะงดเว้นจากที่พักอันสุขสบายทั้งหลาย แล้วไปอาศัยอยู่ในป่าช้า เพื่อจะได้ระลึกถึงความตายอยู่เสมอ เพื่อตั้งอยู่บนความไม่ประมาท
  12. ถือการอยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดไว้ให้เป็นวัตร กล่าวคือ เมื่อมีผู้ใดชี้ให้ไปพักที่ไหน หรือจัดที่พักอย่างใดไว้ให้ ก็จะพักอาศัยในที่นั้นๆ โดยไม่เลือกว่าสะดวกสบาย, ถูกใจหรือไม่ และเมื่อมีผู้ใดขอให้สละที่พักที่กำลังพักอาศัยอยู่นั้น ก็พร้อมจะสละได้ทันที
  13. ถือการนั่งเป็นวัตร กล่าวคือ จะงดเว้นอิริยาบถ “นอน” จะอยู่ใน 3 อิริยาบถเท่านั้น คือ ยืน เดิน นั่ง จะไม่เอนตัวลงให้หลังสัมผัสพื้นเลย ถ้าง่วงมากก็จะใช้การนั่งหลับเท่านั้น เพื่อไม่ให้เพลิดเพลินในการนอน

สำหรับพระภิกษุในโครงการธุดงค์ธรรมชัย ถือธุดงควัตร 2 ข้อ คือ

  • ถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร
  • ถือการอยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดให้เป็นวัตร

ธุดงค์ธรรมชัย เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

วัดพระธรรมกายและมูลนิธิธรรมกาย ร่วมกับองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก, สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สหพันธ์รวมใจไทยทั้งชาติ, สถาบันการศึกษาต่างๆ และ 40 องค์กรภาคี จัดโครงการธุดงค์ธรรมชัย ปีที่ 4 “ธรรมยาตรา เพื่อฟื้นฟูศีลธรรมโลก” ขึ้น ระหว่างวันที่ 2 – 28 มกราคม พ.ศ.2558 โดยพระภิกษุสงฆ์จำนวน 1,130 รูปจากทั่วประเทศ ออกเดินธุดงค์ใน 7 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี, นนทบุรี, สุพรรณบุรี, พระนครศรีอยุธยา, นครปฐม, สมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเส้นทางที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) จาริกไปเพื่อปฏิบัติธรรมและสอนธรรมะ เหล่าศิษยานุศิษย์เรียกกันว่า “เส้นทางมหาปูชนียาจารย์” ซึ่งพระธุดงค์ได้เดินตามรอยท่าน เพื่อปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงธรรมตามท่านไปด้วย

ธุดงค์ธรรมชัยตามรอย “เส้นทางพระผู้ปราบมาร”

พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เป็นพระภิกษุผู้เปี่ยมด้วยคุณธรรมและคุณวิเศษ ท่านเป็นผู้ดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่างแก่ชาวโลก หมั่นฝึกฝนตนเองจนกระทั่งพิสูจน์ให้เราได้รู้จักที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด สถานที่สำคัญแต่ละแห่งอันเกี่ยวเนื่องกับท่าน ได้ถูกจารึกว่าเป็น “เส้นทางพระผู้ปราบมาร” ได้แก่ สถานที่เกิด, สถานที่บรรพชาอุปสมบท, สถานที่บรรลุธรรม, สถานที่เผยแผ่ธรรมะครั้งแรก, สถานที่ปักหลักเผยแผ่วิชชาธรรมกาย และสถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ไปทั่วโลก

สถานที่สำคัญ 6 แห่งบนเส้นทางมหาปูชนียาจารย์

อนุสรณ์สถาน มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี (โลตัสแลนด์)

  • ตั้ง ณ แผ่นดินรูปทรงดอกบัว ในเขตอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นสถานที่เกิดรูปกายเนื้อของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

วัดสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

  • ตั้งอยู่ในอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นสถานที่เกิดในเพศสมณะของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

วัดโบสถ์บน บางคูเวียง

  • ตั้งอยู่ในอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เป็นสถานที่เกิดด้วยกายธรรมของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

วัดบางปลา

  • ตั้งอยู่ในอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เป็นสถานที่เผยแผ่วิชชาธรรมกายครั้งแรกของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

  • ตั้งอยู่ในเขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่ค้นคว้าและเผยแผ่วิชชาธรรมกายของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

วัดพระธรรมกาย

  • ตั้งอยู่ในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เป็นสถานที่ขยายวิชชาธรรมกายซึ่งค้นพบโดยพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

กำหนดการ ธุดงค์ธรรมชัย เส้นทางพระผู้ปราบมาร ปีที่ 4

พระของขวัญ

ผู้ไปร่วมต้อนรับพระธุดงค์ จะได้รับพระของขวัญเป็นเหรียญพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เมื่อรับไปแล้ว ให้หมั่นระลึกถึงท่านและตั้งใจทำความดี เช่น ทำทาน, รักษาศีล และทำสมาธิภาวนา อยู่เสมอๆ อานุภาพของพระรัตนตรัยจะคุ้มครองปกปักรักษาให้ทุกท่านแคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวง

ดอกไม้บนเส้นทางสายทองคำ

ดอกไม้ที่นำมาโปรยต้อนรับพระธุดงค์ คือ ดอกดาวเรือง ซึ่งเป็นดอกไม้มงคลที่มีชื่อเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรือง และมีสีสันเหลืองอร่ามงดงามประดุจทองคำอันล้ำค่า ดาวเรืองจึงเป็นดอกไม้ที่ควรค่าแก่การรองรับก้าวย่างอันเป็นมงคลของพระสงฆ์สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่กำลังเดินธุดงค์เพื่อประกาศพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง เปรียบดั่งเส้นทางนี้เป็น “เส้นทางสายทองคำ” สำหรับชื่อ “ดาวรวย” นั้น มาจากชื่อเต็มว่า “ดอกดาวรวย พันธุ์ทองชฎิลเศรษฐี” ซึ่งพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และประธานมูลนิธิธรรมกาย เป็นผู้ตั้งให้ใหม่เพื่อความเป็นสิริมงคล และความรุ่งเรือง ร่ำรวยแก่ผู้โปรย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 02-831-1234

บทความที่เกี่ยวข้อง:

บทความอื่นๆในหมวดนี้