พระธรรมกาย :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

พระธรรมกาย

พระธรรมกาย

ความนำ

แม้พระพุทธศาสนาจะเข้ามาสู่ประเทศไทยเป็นเวลาเกือบพันปีแล้ว และแม้ในปัจจุบันประเทศไทยจะได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองที่สุดในโลก เพราะประชาชนเกือบทั้งประเทศเป็นพุทธศาสนิกชน ผู้ให้การทำนุบำรุง ตลอดจนปฏิบัติศาสนธรรม แต่ดูเหมือนว่าพุทธศาสนิกชนไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับคำสอนอันเป็นหลักสำคัญในพระพุทธศาสนาอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสอนเกี่ยวกับเรื่อง “ธรรมกาย” ทั้งๆ ที่เรื่องนี้มีปรากฏหลักฐานทั้งในพระไตรปิฎก และคัมภีร์สำคัญๆ ในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทของเราหลายแห่ง กล่าวคือ

  • ในพระไตรปิฎก ๔ แห่ง
  • ในอรรถกถา ๒๘ แห่ง
  • ในฎีกา ๗ แห่ง
  • ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ๒ แห่ง
  • ในวิสุทธิมรรคมหาฎีกา ๓ แห่ง
  • ในคัมภีร์มิลินทปัญหา ๑ แห่ง
  • ในหนังสือปฐมสมโพธิกถา ๑ แห่ง
  • ในหนังสือพระสมถวิปัสสนาแบบโบราณ ๑ แห่ง

นอกจากนี้ยังพบที่หลักศิลาจารึก ที่พบในประเทศไทยอีก ๓ แห่ง แต่ยังมีบางท่านคิดว่า “ธรรมกาย” เป็นลัทธิใหม่ ดังนั้นเราจึงควรมาศึกษาทำความเข้าใจเรื่อง “ธรรมกาย” กันให้ถูกต้องจากเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่หาได้ในปัจจุบัน

ธรรมกาย คือ กายแห่งการตรัสรู้ธรรม

มักจะมีผู้ตั้งคำถามเสมอว่า “ธรรมกาย” คืออะไร พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ทุ่มเทชีวิตศึกษาพระพุทธศาสนา ทั้งภาคปริยัติและปฏิบัติอย่างอุกฤษฎ์ จนกระทั่งเข้าถึง “ธรรมกาย” ในตัวเมื่อปี พุทธศักราช ๒๔๖๐ ณ อุโบสถวัดโบสถ์บน บางคูเวียง จังหวัดนนทบุรี หลังจากที่ท่านบวชเป็นพระภิกษุได้ ๑๒ ปี พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “ธรรมกาย” ไว้ใน พระธรรมเทศนาของท่านว่า “ธรรมกาย คือ กายภายในของพระพุทธเจ้า” (จากมรดกธรรม หน้า ๔๑) พระเดชพระคุณหลวงปู่ให้คำจำกัดความเช่นนี้จากประสบการณ์การปฏิบัติธรรมจนเข้าถึง ธรรมกาย ภายในด้วยตนเอง ส่วนหลักฐานที่แสดงว่า ธรรมกาย คือกายภายในของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาหลายแห่ง ดังนี้

๑. ในคัมภีร์ มงฺคลตฺถทีปนี (ปฐโม ภาโค) ข้อ ๘๘ หน้า ๙๕

มีข้อความที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระวักกลิ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นบุตรของพราหมณ์ชาวพระนครสาวัตถี เรียนจบไตรเพทตามลัทธิพราหมณ์ เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ด้วยความอยากเห็นรูปโฉมของพระบรมศาสดา ครั้นบวชแล้วก็คอยติดตามดูพระองค์ตลอดเวลา จนไม่เป็นอันเจริญภาวนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรอเวลาให้อินทรีย์ของเธอแก่กล้า ครั้นแล้วก็ตรัสเตือนเธอว่า

กินฺเต วกฺกลิ อิมินา ปูติกาเยน ทิฎเน โย โข วกฺกลิ ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ โย มํ ปสฺสติ โส ธมฺมํ ปสฺสติ ธมฺมํ หิ วกฺกลิ ปสฺสนฺโต มํ ปสฺสติ มํ ปสฺสนฺโต ธมฺมํ ปสฺสติ

แปลว่า วักกลิจะมีประโยชน์อะไรที่ได้เห็นกายเปื่อยเน่านี้ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นย่อมเห็นธรรม

พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำให้ความเห็นว่า แท้ที่จริงแล้วพระดำรัสนี้น่าจะหมายความว่า

“ผู้ใดเห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็น ธรรมกาย ผู้นั้นได้ชื่อว่าเห็นเรา คือตถาคตนั่นเอง หรือพูดให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นคือ ผู้ใดเห็น ธรรมกาย ผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า” (จากมรดกธรรมหน้า ๔๑)

เหตุที่ให้ความหมายเช่นนี้ ก็เพราะขณะนั้นพระวักกลิก็อยู่ใกล้ๆ กับพระพุทธองค์ พระวักกลิก็มีดวงตาเป็นปกติ ไม่ใช่ผู้มีดวงตาพิการ ย่อมจะสามารถมองเห็นกายของพระพุทธองค์ได้ถนัดชัดเจน แต่การที่พระพุทธองค์ตรัสเช่นนั้นย่อมมีนัยลึกซึ้งอยู่ จึงมีความหมายได้ว่า กายที่แลเห็นได้ด้วยตาธรรมดานั้น เป็นแค่เพียงเปลือกนอกของพระสิทธัตถะที่ออกบวช ซึ่งมิได้อยู่ในความหมายของคำว่า “เรา” ยิ่งกว่านั้นยังตรัสว่าเป็นกายที่เปื่อยเน่าด้วย นั่นคือกายพระสิทธัตถะที่ออกบวชเป็นกายที่เปื่อยเน่า จึงเป็นเพียงกายภายนอกและสันนิษฐานได้ว่า “เรา” หมายถึงกายภายใน ซึ่งไม่ใช่กายที่เปื่อยเน่าได้ ดังนั้นกายภายในคืออะไรเล่า ก็คือ “ธรรมกาย” นั่นเอง จะเห็นกายนี้ได้อย่างไร พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำตอบว่าไม่ยาก ถ้าได้บำเพ็ญภาวนาโดยวางใจได้ถูกส่วนแล้ว ท่านจะเห็นได้ด้วยตนเองคือ เห็นด้วย “ธรรมจักษุ” หรือพูดง่ายๆ ว่า ตาธรรมกาย มิใช่ตาธรรมดา นั่นคือท่านต้องเจริญภาวนาจนบรรลุ ธรรมกาย ในตนเอง กลายเป็นผู้มี “ธรรมจักษุ” เสียก่อนและด้วยธรรมจักษุนี้ก็จะเห็น ธรรมกาย ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

๒. ในคัมภีร์ ขุทฺทกนิกาย อิติวุตฺตก เล่ม ๒๕ ข้อ ๒๗๒ หน้า ๓๐๑ กล่าวว่า

โยชนสเต เจปิ โส ภิกฺขเว ภิกฺขุ วิหเรยฺย โส จ โหติ อนภิชฌาลุ กา เมสุ น ติพฺพสาราโค อพยาปนฺนจิตฺโต อปฺปทุฏฺฐมนสงฺกปฺโป อุปฏฺฐตสติ สมฺปชาโน สมาหิโต เอกคฺคจิตฺโต สํวุตินฺทฺริโย อถ โข โส สนฺติเกว มยฺหํ อหญฺจ ตสฺสฯ ตํ กิสฺส เหตุ ธมฺมํ หิ โส ภิกฺขเว ภิกฺขุ ปสฺสติ ธมฺมํ ปสฺสนฺโต มํ ปสฺสตี ติฯ

มีคำแปลปรากฏอยู่ใน ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ สังฆาฏิสูตร ข้อ ๒๗๒ หน้า ๕๘๑ ว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ภิกษุนั้นอยู่ไกลตั้งร้อยโยชน์ แต่เธอไม่มีอภิชฌาคือความละโมบ ไม่มีความกำหนัดอันแรงกล้าในกามทั้งหลาย ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีความดำริแห่งใจชั่วร้าย มีสติมั่น มีสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว สำรวมอินทรีย์โดยแท้ ภิกษุนั้นย่อมชื่อว่า อยู่ใกล้ชิดเราทีเดียว และเราก็อยู่ใกล้ชิดภิกษุนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะภิกษุนั้นย่อมเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรมย่อมชื่อว่าเห็นเรา”

จากข้อความที่ยกมานี้มีประเด็นสำคัญที่อธิบายได้ดังนี้คือ

(๑) ภิกษุที่มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียวนั้น คือภิกษุที่เจริญวิปัสสนาภาวนาจนสามารถบรรลุวิปัสสนาญาณได้เป็นอย่างน้อย (๒) ภิกษุที่สามารถบรรลุธรรมขั้นสูงเช่นนั้นได้ ก็เพราะไม่โลภ ไม่ติดในกาม ไม่พยาบาท โดยสรุปก็คือ ละนิวรณ์ได้แล้ว จึงมีสติตั้งมั่น สามารถทำความเพียรให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป นั่นคือสามารถบรรลุ “ธรรมกาย” ในตนเองจึงมี “ธรรมจักษุ” และด้วยธรรมจักษุนี้เองจึงสามารถมองเห็น ธรรมกาย ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (๓) ภิกษุที่มี “ธรรมจักษุ” แม้จะอยู่ห่างไกลแสนไกลจากพระพุทธองค์ก็สามารถเห็นพระพุทธองค์ (เห็นเรา) ได้ จึงได้ชื่อว่า อยู่ใกล้พระพุทธองค์โดยแท้

ด้วยเหตุนี้ คำว่า “ธรรม” ใน “เห็นธรรม” จึงน่าจะเป็นรูปธรรม มิใช่นามธรรมที่หมายถึงพระธรรมคำสั่งสอนอันปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกปัจจุบัน แต่จะต้องเป็นดวงธรรมที่ทำให้เป็น ธรรมกาย หรือเป็นธรรมขันธ์ที่สำเร็จด้วยการหักอาสวะกิเลสทั้งปวงจนสิ้น แล้วประกอบกันเป็นกายของพระพุทธองค์ นั่นคือ ธรรมกาย เป็นกายภายใน และจะสามารถเห็นได้เฉพาะผู้ที่มีธรรมจักษุ อันเกิดจากการเจริญวิปัสสนาภาวนาขั้นสูงเท่านั้น ข้อความในพระสูตรนี้จึงเป็นหลักฐานสนับสนุนคำจำกัดความที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำให้ไว้เป็นอย่างดี

๓. ในคัมภีร์ ขุทฺทกนิกาย อุทาน ปรมตฺถโชติกา มงฺคลสุตฺตวณฺณนา ฉบับมหาจุฬาฯ หน้า ๙๕ กล่าวว่า

ภคฺคราโค ภคฺคโทโส ภคฺคโมโห อนาสโว ภคฺคาสฺส ปาปกา ธมฺมา ภควา เตน วุจฺจตีติ. ภาคฺยวตาย จสฺส สตปุญฺญลกฺขณธรสฺส รูปกายสมฺปตฺติ ทีปิตา โห ติ, ภคฺคโทสตายปิ ธมฺมกายสมฺปตติ. ตถา โลกิยสริกฺขกานํ พหุมตภาโว, คหฏฺฐปพฺพชิเตหิ อภิคมนียตา, อภิคตานญฺจ เนสํ กายจิตฺตทุกฺขาปนยเน ปฏิพลภาโว, ตถา อามิสทานธมฺมทาเนหิ อุปการิตา, โลกิยโลกุตฺตรสุเขหิ จ สํโยชนสมตฺถตา ทีปิตา โหติ.

[ข้อความคล้ายคลึงกับ วิสุทฺธิมคฺคปกรณ พุทฺธานุสฺสติกถา ฉบับมหาจุฬาฯ เล่ม ๑ หน้า ๒๓๐] มีคำแปลปรากฏใน ขุทฺทกนิกาย ขุทฺทกปาฐะ อรรถกถามงคลสูตร เล่ม ๓๙ หน้า ๑๔๙ ว่า

ทรงหักราคะ หักโทสะ หักโมหะ ไม่มีอาสวะ ทรงหักบาปธรรมได้แล้ว ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่า ภควา ก็แล ความถึงพร้อมแห่งพระรูปกายของพระองค์ ผู้ทรงไว้ซึ่งพระบุญลักษณะนับร้อย เป็นอันท่านแสดงด้วยความที่ทรงมีภาคยะคือบุญ ความถึงพร้อมแห่ง พระธรรมกาย เป็นอันท่านแสดงด้วยความที่ทรงหักโทสะได้แล้ว

[ข้อความคล้ายคลึงกับ ขุ. มหา. อรรถกถา ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส เล่ม ๖๕ หน้า ๗๐๑] จากข้อความที่ว่า "ความถึงพร้อมแห่ง พระธรรมกาย เป็นอันท่านแสดงด้วยความที่ทรงหักโทสะ (เป็นต้น) ได้แล้ว" ย่อมชี้ให้เห็นว่า พระธรรมกาย ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นปรากฏขึ้น ก็เพราะทรงกำจัดอาสวะกิเลสในพระองค์ได้แล้วโดยสิ้นเชิง ดังนั้นจึงเป็นกายที่เกิดใหม่ เป็นกายที่เป็นธรรมขันธ์ มิใช่กายที่เป็นเบญจขันธ์ ซึ่งเป็นเปลือกนอกของตถาคต ถ้าเช่นนั้น ธรรมกาย หรือธรรมขันธ์นี้ก็ย่อมจะซ้อนอยู่ภายในกายที่เป็นเบญจขันธ์อีกทีหนึ่ง ดังที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำได้อธิบายไว้

๔. ในคัมภีร์ ขุทฺทกนิกาย อิติวุตฺตกะ อรรถกถา ปรมตฺถทีปนี อคฺคปฺปสาทสุตฺตวณฺณนา ฉบับมหาจุฬาฯ หน้า ๓๒๐-๓๒๑ มีข้อความตอนหนึ่งซึ่งกล่าวถึง ธรรมกาย ว่า

ปุริมสฺมึ จ อตฺเถ อคฺคสทฺเทน พุทฺธาทิรตนตฺตยํ วุจฺจติ เตสุ ภควา ตาว อสทิสฏฺเฐน คุณวิสิฏฺเฐน อสมสมฏฺเฐน จ อคฺโค. โส หิ มหาภินีหารํ ทสฺนฺนํ ปารมีนํ ปวิจยญฺจ อาทึ กตฺวา เตหิ โพธิสมฺภารคุเณหิ เจว พุทฺธคุเณหิ จ เสสชเนหิ อสทิโสติ อสทิสฏฺเฐน อคฺโค. เย จสฺส คุณา มหากรุณาทโย, เต เสสสตฺตานํ คุเณหิ วิสิฏฺฐาติ คุณวิสฏฺฐฏฺเฐนปิ สพฺพสตฺตุตฺตมตาย อคฺโค. เย ปน ปุริมกา สมฺมาสมฺพุทฺธา สพฺพสตฺเตหิ อสมา. เตหิ สทฺธึ อยเมว รูปกายคุเณหิ เจว ธมฺมกายคุเณหิ จ อสมสมฏฺเฐนปิ อคฺโค.

มีคำแปลปรากฏอยู่ใน ขุทฺทกนิกาย อิติวุตฺตกะ อรรถกถา ปสาทสูตร เล่ม ๔๕ หน้า ๕๕๙ ว่า

อนึ่งในความหมายอย่างก่อนพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นไว้ด้วย "อคฺค" ศัพท์ ในสัตว์โลกเหล่านั้น พระผู้มีพระมีพระภาคเจ้า ชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐก่อน โดยหมายความว่าไม่มีผู้เปรียบโดยความหมายว่าเป็นผู้วิเศษด้วยคุณความดี และโดยความหมายว่าไม่มีผู้เสมอเหมือน

จริงอยู่พระองค์ชื่อว่าเป็นผู้ล้ำเลิศ โดยความหมายว่าไม่มีผู้เปรียบเพราะทรงทำอภินิหารมามาก และการสั่งสมบารมี ๑๐ ประการมาเป็นเบื้องต้น จึงไม่เป็นเช่นกับคนทั้งหลายที่เหลือ เพราะพระคุณคือพระโพธิสมภารเหล่านั้น และเพราะพุทธคุณทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นผู้ล้ำเลิศ เพราะเป็นผู้สูงสุดกว่าสรรพสัตว์ แม้โดยความหมายว่า เป็นผู้วิเศษด้วยคุณความดี เพราะพระองค์มีพระคุณพระมหากรุณาธิคุณ เป็นต้น ที่วิเศษกว่าคุณทั้งหลายของสรรพสัตว์ที่เหลือ ชื่อว่าเป็นผู้ล้ำเลิศ แม้โดยความหมายว่า ไม่มีผู้เสมอเหมือน เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้เอง เป็นผู้เสมอโดยพระคุณทางรูปกาย และพระคุณทาง ธรรมกาย กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน ผู้ไม่เสมอเหมือนกับสรรพสัตว์ จากข้อความที่ยกมานี้ จะเห็นได้ว่า

(๑) พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระคุณที่สำคัญอยู่ ๒ ทางคือ พระคุณทางรูปกาย และพระคุณทาง ธรรมกาย (๒) พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประเสริฐกว่าผู้อื่นทั้งปวง เพราะไม่มีผู้ใดเปรียบเทียบกับพระองค์ได้ในด้านคุณความดี ความกรุณา การสั่งสมบารมีการทำอภินิหารมาก พระโพธิสมภาร และพระพุทธคุณทั้งหลาย (๓) พระคุณทางรูปกาย และพระคุณทางธรรมกาย ของพระพุทธองค์นั้น เสมอกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล ในข้อนี้ย่อมสรุปได้ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายล้วนมี ธรรมกาย และ ธรรมกาย เป็นคนละสิ่งกับรูปกาย

มีคำถามต่อไปว่า

๑) ธรรมกาย เกิดขึ้นได้อย่างไร และ ๒) บุคคลจะสามารถเห็น ธรรมกาย ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างไร

จากข้อความที่ว่า "การสั่งสมบารมี ๑๐ ประการมาเป็นเบื้องต้น จึงไม่เป็นเช่นกับคนทั้งหลายที่เหลือ เพราะพระคุณคือ พระโพธิสมภารเหล่านั้น (บุญบารมีเหล่านั้น) และเพราะพุทธคุณทั้งหลาย (พระคุณ ๙ ประการของพระพุทธเจ้า) ชื่อว่าเป็นผู้ล้ำเลิศ" จากข้อความตรงนี้ น่าจะตอบคำถามแรกได้ว่า "ธรรมกาย" ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นได้เพราะการสั่งสมบารมี ๑๐ ประการเป็นเบื้องต้น อันเป็นพื้นฐานสำหรับการบำเพ็ญอุปบารมี และปรมัตถบารมี ดังที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ส่วนคำถามที่สองนั้น น่าจะได้คำตอบจากคัมภีร์ต่อไป อย่างไรก็ตาม จากข้อความในพระสูตรที่ยกมานี้ย่อมชี้ให้เห็นว่า ธรรมกาย ไม่ใช่รูปกาย ซึ่งเป็นเบญขันธ์ ที่เปื่อยเน่าได้ และไม่ใช่เป็นเพียงพระธรรมคำสั่งสอนอันปรากฏในพระไตรปิฎก แต่เป็นอีกกายหนึ่งซึ่งเป็นธรรมขันธ์ ไม่เน่าเปื่อย

๕. ในคัมภีร์ ขุทฺทกนิกาย อิติวุตฺตก อรรถกถาปรมตฺถทีปนี สงฺฆาฏิกณฺณสุตฺตวณฺณนา ฉบับมหาจุฬาฯ หน้า ๓๓๔ มีข้อความที่กล่าวถึง ธรรมกาย ว่า

โส อารกาว มยฺหํ, อหญฺจ ตสฺสาติ โส ภิกฺขุ มยา วุตฺตปฏิปทํ อปูเรนฺโต มม ทูเรเยว, อหญฺจ ตสฺส ทูเรเยว. เอเตน มํสจกฺขุนา ตถาคตทสฺสนํ รูปกายสโมธานญฺจ อการณํ, ญาณจกฺขุนาวทสฺสนํ ธมฺมกายสโมธานเมว จ ปมาณนฺติ ทสฺเสติ. เตเนวาห "ธมฺมํ หิ โส ภิกฺขเว ภิกฺขุ น ปสฺสติ, ธมฺมํ อปสฺสนฺโต มํ น ปสฺสตี" ติ. ตตฺถ ธมฺโม นาม นววิโธ โลกุตฺตรธมฺโม,โส จ อภิชฺฌาทีหิ ทุสฺสิตจิตฺเตน น สกฺกา ปสฺสิตุํ, ตสฺมา ธมฺมสฺส อทสฺสนโต ธมฺมกายํ จ น ปสฺสตี" ติ ตถา หิ วตฺตุํ :- "กินฺเต วกฺกลิ อิมินา ปูติกาเยน ทิฏฺเฐน, โย โข วกฺกลิ ธมฺมํ ปสฺสติ, โส มํ ปสฺสติ. โย มํ ปสฺสติ, โส ธมฺมํ ปสฺสตี" ติ. (เชิงอรรถอ้าง สํ.ข.๑๗/๘๗/๙๖) “ธมฺมกาโย อิติปิ, พฺรหฺมกาโย อิติปิ” ติ จ อาทิ (เชิงอรรถอ้าง ที.ปา. ๑๑/๑๑๘/๗๒)

มีคำแปลปรากฏใน ขุทฺทกนิกาย อิติวุตฺตก อรรถกถาสังฆาฏิสูตร เล่ม ๔๕ หน้า ๕๘๓ ว่า บทว่า โส อารกาว มยฺหํ อหญฺจ ตสฺส ความว่า ภิกษุนั้น เมื่อไม่บำเพ็ญปฏิปทาที่เราตถาคตกล่าวแล้วให้บริบูรณ์ ก็ชื่อว่า เป็นผู้อยู่ไกลเราตถาคตทีเดียว เราตถาคตก็ชื่อว่า อยู่ไกลเธอเหมือนกัน ด้วยคำนี้พระองค์ทรงแสดงว่า การเห็นพระตถาคตเจ้า ด้วยมังสจักษุก็ดี การอยู่รวมกันทางรูปกายก็ดี ไม่ใช่เหตุ (ของการอยู่ใกล้) แต่การเห็นด้วยญาณจักษุเท่านั้น และการรวมกันด้วย ธรรมกาย ต่างหาก เป็นประมาณ (ในเรื่องนี้) ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า

ภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าภิกษุนั้นไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรมก็ไม่เห็นเราตถาคต

ในคำว่า ธมฺมํ น ปสฺสติ นั้น มีอธิบายว่า โลกุตตรธรรม ๙ อย่าง ชื่อว่าธรรม ก็เธอไม่อาจจะเห็นโลกุตตรธรรมนั้นได้ ด้วยจิตที่ถูกอภิชฌาเป็นต้นประทุษร้าย เพราะไม่เห็นธรรมนั้น เธอจึงชื่อว่า ไม่เห็น ธรรมกาย สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนวักกลิ เธอจะมีประโยชน์อะไร ด้วยกายอันเปื่อยเน่านี้เธอได้เห็นแล้ว ดูก่อนวักกลิ ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นก็เห็นเราตถาคต ผู้ใดเห็นเราตถาคต ผู้นั้นก็เห็นธรรม ดังนี้ และว่าเราตถาคตเป็นธรรมภูต เราตถาคตเป็นพรหมภูตดังนี้ และว่าเป็น ธรรมกาย บ้าง เป็นพรหมกายบ้าง ดังนี้เป็นต้น

จากข้อความที่ยกมานี้มีประเด็นสำคัญว่า

(๑) มังสจักษุ หรือตาธรรมดาของภิกษุ สามารถมองเห็นได้ก็แต่เพียงรูปกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (๒) ธรรมกาย ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภิกษุจะสามารถเห็นได้ด้วยญาณจักษุเท่านั้น ถ้าไม่มีญาณจักษุ ก็ไม่สามารถมองเห็น (๓) ภิกษุที่มองเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงเฉพาะรูปกาย ไม่ชื่อภิกษุนั้นอยู่ใกล้ตถาคตหรือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และตถาคตเองก็ไม่ชื่อว่าอยู่ใกล้ภิกษุนั้น (๔) ภิกษุที่มีญาณจักษุ สามารถมองเห็น ธรรมกาย ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงจะได้ชื่อว่าอยู่ใกล้พระองค์ และพระองค์ก็อยู่ใกล้ภิกษุนั้น เพราะเหตุนี้พระพุทธองค์จึงได้ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าภิกษุนั้นไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรม ก็ไม่เห็นเราตถาคต" ณ จุดนี้จึงสรุปได้ว่า คำว่า "ธรรม" ใน "ไม่เห็นธรรม" นั้นที่แท้หมายถึง "ธรรมกาย" คือเมื่อไม่เห็น

ธรรมกาย ก็ไม่เห็นเราตถาคต ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ธรรมกาย ไม่ใช่เป็นเพียงชื่อของตถาคตเท่านั้น แต่เป็นตัวตถาคตทีเดียว ซึ่งเป็นคนละส่วนกับรูปกาย ซึ่งเป็นเบญจขันธ์หรือเป็นเปลือกนอกของตถาคต ดังที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำได้กล่าวอธิบายไว้แล้ว ส่วนคำว่า "ญาณจักษุ" ก็คือ "ปัญญาจักษุ" หรือ "ธรรมจักษุ" หรือเรียกง่ายๆ ว่า "ตาธรรมกาย" นั่นเอง ผู้ที่จะมีญาณจักษุได้จะต้องเจริญวิปัสสนาภาวนาขั้นสูง จนบรรลุถึง ธรรมกาย ในตนเอง แล้วด้วยตาของ ธรรมกาย หรือญาณจักษุของตนเองนั้น ก็จะเห็น ธรรมกาย หรือตถาคต หรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังที่ได้พรรณนาไว้ในข้อ ๒-อิติวุตฺตก ๒๕/๒๗๒ (๕) ผู้ที่มีญาณจักษุ คือผู้เข้าถึง ธรรมกาย ในตนเอง หรือเรียกว่าผู้ที่มี ธรรมกาย ย่อมเห็น ธรรมกาย ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๖. ในคัมภีร์ ขุทฺทกนิกาย สุตฺตนิปาต อรรถกถาปรมตฺถโชติ กา ธนิยสุตฺตวณฺณนา ฉบับมหาจุฬาฯ หน้า ๓๙ ปรากฏมีข้อความเกี่ยวกับธรรมกาย ว่า

อถ ธนิโย อเวจฺจปฺปสาทโยเคน ตถาคเต มูลชาตาย ปติฏฺฐตาย สทฺธาย ปญฺญจกฺขุนา ภควโต ธมฺมกายํ ทิสฺวา ธมฺมกายสญฺโจหิตหทโย จินฺเตสิ :- "พนฺธนานิ ฉินฺทึ, คพฺภเสยฺยา จ เม นตฺถี" ติ อวีจึ ปริยนฺตํ กตฺวา ยาว ภวคฺคา โก อญฺโญ เอวํ สีหนาทํ นทิสฺสติ อญฺญตฺร ภควตา, อาคโต นุ โข เม สตฺถาติ. (*** ข้ามข้อความบางส่วน ***) ตตฺถ ยสฺมา ธนิโย สปุตฺตทาโร ภควโต อริยมคฺคปฏิเวเธน ธมฺมกายํ ทิสฺวา โลกุตฺตรจกฺขุนา, รูปกายํ ทิสฺวา โลกิยจกฺขุนา สทฺธาปฏิลาภํ ลภิ, ตสฺมา อาห "ลาภา วต โน อนปฺปกา, เย มยํ ภควนฺตํ อทฺทสามา" ติ.-

มีคำแปลที่ปรากฏใน ขุทฺทกนิกาย สตฺตนิปาต อรรถกถาธนิยสูตร เล่ม ๔๖ หน้า ๘๔ ว่า

ลำดับนั้น นายธนิยะ เห็นแล้วซึ่ง ธรรมกาย ของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยปัญญาจักษุ ด้วยศรัทธา ซึ่งตั้งมั่นแล้ว อันเกิดขึ้นแล้วในพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นมูลด้วยความเลื่อมใสที่ไม่คลอนแคลน ผู้มีหทัยอัน ธรรมกาย ตักเตือนแล้ว คิดแล้วว่านับตั้งแต่อเวจีเป็นที่สุด จนถึงภวัครพรหม เว้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสีย คนอื่นใครเล่าจักบันลือสีหนาทที่มีกำลังเช่นนี้ได้ พระศาสดาของเราเสด็จมาแล้วหนอ ด้วยความดำริว่า เราตัดเครื่องผูกทั้งหลายได้แล้ว และการนอนในครรภ์ของเราไม่มี (*** ข้ามข้อความบางส่วน ***) เพราะเหตุที่นายธนิยะพร้อมกับบุตรและภรรยาได้เห็น ธรรมกาย ของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยโลกุตตรจักษุ โดยการแทงตลอดอริยมรรค เห็นรูปกายของพระองค์ด้วยโลกิยจักษุ และกลับได้แล้วซึ่งสัทธาฉะนั้นเขาจึงกล่าวว่า เป็นลาภของข้าพระองค์ไม่น้อยหนอ ที่ข้าพระองค์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า

จากข้อความที่ยกมานี้มีคำศัพท์ที่ควรพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอยอยู่หลายคำดังนี้

๑. ปัญญาจักษุ คำนี้ประกอบด้วย "ปัญญา" และ "จักษุ" คำว่าปัญญามีความหมายหลายระดับ ความหมายระดับสูงหมายถึง "ความรอบรู้ในกองสังขารมองเห็นตามเป็นจริง" หรือหมายถึง "ญาณ" คือปรีชาหยั่งรู้ เช่นญาณหยั่งรู้อริยสัจ ๔ เป็นต้น "จักษุ" แปลว่า ตา เมื่อคำสองคำรวมกันเป็น "ปัญญาจักษุ" กลายเป็นคำศัพท์เฉพาะในพระพุทธศาสนา หมายถึงพระปัญญาคุณอันยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นเหตุให้สามารถตรัสรู้อริยสัจธรรม หรือ ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ๒. ภวัครพรหม หมายถึงพรหมชั้นสูงสุด หรือเนวสัญญานาสัญญายตนะ ๓. อริยมรรค หมายถึงญาณอันให้สำเร็จความเป็นพระอริยะมี ๔ อย่างคือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค ๔. โลกุตตรจักษุ คำนี้ประกอบด้วย “โลกุตตร” กับ “จักษุ “โลกุตตระ” แปลว่า “พ้นวิสัยของโลก” ดังนั้น “โลกุตตรจักษุ” จึงมิใช่ตาธรรมดาของคนเรา แต่เป็นตาที่สามารถมองเห็นกองสังขารตามความเป็นจริงทั้งหมด มีความหมายเช่นเดียวกับ “ปัญญาจักษุ” หรือ “ญาณจักษุ” หรือตาธรรมกายนั่นเอง

จากข้อความในพระสูตรนี้แสดงว่านายธนิยะพร้อมกับบุตรและภรรยา เป็นผู้เจริญวิปัสสนาภาวนา จึงสามารถแทงตลอดอริยมรรค นั่นคือบรรลุอรหัตตมรรค (หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าบรรลุธรรมกายอรหัต) พวกเขาจึงได้เห็น ธรรมกาย ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยปัญญาจักษุ หรือโลกุตตรจักษุ ทั้งนี้ย่อมเป็นเครื่องยืนยันว่า ธรรมกาย ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มิใช่รูปกายเปลือกนอกของพระพุทธองค์ ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาธรรมดา แต่เป็นกายภายใน หรือเป็นธรรมขันธ์ของพระพุทธองค์ที่บุคคลผู้บรรลุ ธรรมกาย มีปัญญาจักษุเท่านั้น จึงสามารถเห็นได้ จากข้อความที่ว่า “พระศาสดาของเราเสด็จมาแล้วหนอด้วยความดำริว่า เราตัดเครื่องผูกทั้งหลายได้แล้ว และการนอนในครรภ์ (สังสารวัฏฎ์) ของเราไม่มี” ย่อมชี้ให้เห็นว่าพระพุทธองค์นั้นทรงทำกิเลสอาสวะทั้งปวงให้อันตรธานไปอย่างสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ จึงยังผลให้พระองค์เป็น ธรรมกาย โดยสมบูรณ์ จากหลักฐานที่ประมวลมาทั้งหมดนี้ย่อมชี้ให้เห็นว่า

(๑) ธรรมกาย ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนละอย่างกับรูปกาย ซึ่งเป็นเบญจขันธ์ของพระองค์ (๒) ธรรมกาย เป็นกายภายในของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นธรรมขันธ์สามารถเห็นได้โดยปัญญาจักษุ หรือโลกุตตรจักษุ หรือญาณจักษุ หรือตาธรรมกายเท่านั้น มังสจักษุหรือตาธรรมดา ไม่สามารถเห็นได้ (๓) พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีคุณวิเศษล้ำเลิศกว่าสัตว์ทั้งปวง นับแต่อเวจีจนถึงภวัครพรหม ทรงสามารถบันลือสีหนาทได้เหนือกว่าผู้ใดในไตรภพ ทรงตัดขาดจากสังสารวัฏฎ์แล้วโดยสิ้นเชิง อีกทั้งทรงพระคุณสมบัติเสมอด้วยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน ก็เพราะทรงมี “พระธรรมกาย”

ดังนั้นจึงสามารถสรุปความหมายของ ธรรมกาย อย่างสั้นๆ และเข้าใจง่ายๆ ได้ว่า “ธรรมกาย คือ กายแห่งการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” หรือ “ธรรมกาย คือ กายรู้แจ้งเห็นแจ้งของบุคคล”

ทุกคนมีธรรมกาย

นับแต่วาระที่เข้าถึงธรรม บรรลุธรรมกายในตนเองแล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำก็ได้ประจักษ์ว่าทุกๆ คนมี ธรรมกาย ในตนเองและ ธรรมกาย นี้มีคุณวิเศษอันล้ำเลิศยิ่งนัก ดังที่ท่านกล่าวว่า

…พอถึงกายธรรมเท่านั้น รูปพระพุทธปฏิมากรเกตุ ดอกบัวตูม บริสุทธิ์ ใสเป็นกระจกคันฉ่องเงาหน้า กายที่ ๙ ของ ตัวเอง มีทุกคน ชายก็มี หญิงก็มี เหมือนกันทุกคน แบบเดียวกัน ไปถึงกายนั่นนะ เป็นตัวอมตะ ทีเดียว อปฺปมาโท อมตํ ปทํ ทีเดียวเห็นนิพพานได้ทีเดียว ไม่ใช่กายเดียวนะ กายธรรม กายธรรมละเอียด กายธรรมโสดา กายธรรมโสดาละเอียด กายธรรมสกทาคาสกทาคา สกทาคาละเอียด กายธรรมอนาคา อนาคาละเอียด กายธรรมอรหัต กายธรรมอรหัตละเอียด ไปนิพพานได้เหมือนกันทุกกาย นี่ไปนิพพานได้อย่างนี้ เช่นนั้นเรียกว่า อปฺปมาโท อมตํ ปทํ ความไม่ประมาทเป็นหนทางไม่ตายนั่นแหละ กายธรรม นั่นแหละ ไม่ตาย ไปนิพพานได้ทีเดียว….. (จากมรดกธรรม หน้า ๖๘๒๖)

หลักฐานที่แสดงว่าทุกคนมีธรรมกาย ที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนานั้นมีอยู่หลายแห่งด้วยกัน เช่น

๑.ในอรรถกถาธนิยสูตร (ยกมาอ้างแล้วในหน้า ๓๐๙) ที่ว่า

"…นายธนิยะเห็นแล้ว ซึ่ง ธรรมกาย ของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วย ปัญญาจักษุ…" คำว่า "ปัญญาจักษุ" นี้ย่อมแสดงว่านายธนิยะมีธรรมกาย และเข้าถึงธรรมกายภายในตนแล้ว จึงมีปัญญาจักษุ และในย่อหน้าที่สองที่ว่า "…นายธนิยะพร้อมกับบุตรและภรรยาได้เห็น ธรรมกาย ของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยโลกุตตรจักษุ โดยการแทงตลอดอริยมรรคและเห็นรูปกายของพระองค์ด้วยโลกียจักษุ…" คำว่า "แทงตลอดอริยมรรค"และ "โลกุตตรจักษุ" ย่อมแสดงว่านายธนิยะกับบุตรและภรรยามีธรรมกาย และต่างเข้าถึงธรรมกายภายในตนแล้ว  

๒.ในพระสุตตันตปิฎก ขุทฺทกนิกาย อปทาน มหาปชาบดีโคตมีเถรี อปทาน เล่ม ๓๓ ข้อ ๑๕๗ หน้า ๒๘๔

ปรากฏมีข้อความตอนหนึ่ง ซึ่งพระนางมหาปชาบดีโคตมีกล่าวกับพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น แสดงว่า พระนางเธอมี ธรรมกาย เข้าถึง ธรรมกาย ในตนเอง และเป็น ธรรมกาย แล้ว พระนางเธอเป็น ธรรมกาย ได้ก็เพราะการปฏิบัติ ตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อไปนี้คือข้อความในพระสุตตันตปิฎก อหํ สุคต เต มาตา ตุวํ ธีร ปิตา มม สทฺธมฺมสุขโท นาถ ตยา ชาตมฺหิ โคตม ฯ สํวทฺธิโตยํ สุคต รูปกาโย มยา ตว อานนฺทิโย ธมฺมกาโย มม สํวทฺธิโต ตยา ฯ มุหุตฺตํ ตณฺหาสมนํ ขีรํ ตฺวํ ปายิโต มยา ตยาหํ สนฺตมจฺจนฺตํ ธมฺมขีรมฺปิ ปายิตา มีคำแปลปรากฏใน ขุทฺทกนิกาย อปทาน มหาปชาบดีโคตมีเถรี อปทาน ฉบับมหามกุฏฯ เล่ม ๗๒ หน้า ๕๔๒ ความว่า ข้าแต่พระสุคตเจ้า หม่อมฉันเป็นมารดาของพระองค์ ข้าแต่พระธีรเจ้า พระองค์เป็นพระบิดาของหม่อมฉัน ข้าแต่พระโลกนาถ พระองค์เป็นผู้ประทานความสุขอันเกิดจากพระสัทธรรมให้หม่อมฉัน ข้าแต่พระโคดม หม่อมฉันเป็นผู้อันพระองค์ให้เกิด ข้าแต่พระสุคตเจ้า รูปกายของพระองค์นี้ อันหม่อมฉันทำให้เจริญเติบโต ธรรมกาย อันน่าเพลิดเพลินของหม่อมฉัน อันพระองค์ทำให้เจริญเติบโตแล้ว หม่อมฉันให้พระองค์ดูดดื่มน้ำนม อันระงับเสียได้ซึ่งความอยากชั่วครู่ แม้น้ำนม คือพระสัทธรรมอันสงบระงับล่วงส่วน พระองค์ก็ให้หม่อมฉันดูดดื่มแล้ว  

๓.ในพระสุตตันตปิฎก ขุทฺทกนิกาย อปทาน ปัจเจกพุทธาปทาน เล่มที่ ๓๒ ข้อ ๒ หน้า ๒๐

ได้กล่าวว่า บรรดานักปราชญ์ที่เจริญวิปัสสนาภาวนาชั้นสูงแล้ว ถ้าท่านเหล่านั้นไม่ได้เป็นพระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็ต้องเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะมีธรรมกายมากมาย ดังข้อความว่า สุ?ฺ?ปฺปณิธิ?ฺจ ตถานิมิตฺตํ อาเสวยิตฺวา ชินสาสนมฺหิ เย สาวกตฺตํ น วชนฺติ ธีรา ภวนฺติ ปจฺเจกชินา สยมฺภู ฯ มหนฺตธมฺมา พหุธมฺมกายา จิตฺติสฺสรา สพฺพทุกฺโขฆติณฺณา อุทคฺคจิตฺตา ปรมตฺถทสฺสี สีโหปมา ขคฺควิสาณกปฺปา ฯ มีคำแปลปรากฏอยู่ใน ขุทฺทกนิกาย อปทาน ปจฺเจกพุทฺธาปทาน เล่มที่ ๓๒ ข้อ ๒ หน้า ๑๑ ความว่า นักปราชญ์เหล่าใดเจริญสุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ และอัปปณิหิตวิโมกข์ ไม่บรรลุความเป็นพระสาวกในศาสนาพระชินเจ้า นักปราชญ์เหล่านั้นย่อมเป็นพระสยัมภูปัจเจกพุทธเจ้า มีธรรมใหญ่ มีธรรมกายมาก มีจิตเป็นอิสระ ข้ามห้วงทุกข์ทั้งมวลได้ มีจิตโสมนัส มีปกติเห็นประโยชน์อย่างยิ่ง เปรียบดังราชสีห์เช่นกับนอแรด จากพระสูตรนี้ จะเห็นได้ว่าบุคคลที่มีปัญญา ตั้งใจวิปัสสนาภาวนา จนบรรลุความหลุดพ้น สุ??ตวิโมกข์ คือหลุดพ้นด้วยเห็นอนัตตา แล้วถอนความยึดมั่นได้ อนิมิตตวโมกข์ คือหลุดพ้นด้วยเห็นอนิจจัง แล้วถอนความยึดมั่นได้ อัปปนิหิตวิโมกข์ คือหลุดพ้นด้วยเห็นทุกข์ แล้วถอนความปรารถนาได้ เมื่อถอนความยึดมั่นและความปรารถนาเสียได้ จิตย่อมบริสุทธิ์จนบรรลุธรรมกายในตนได้

ดังนั้นข้อความในพระสูตรนี้ย่อมยืนยันได้ว่าทุกคนมี ธรรมกาย ยิ่งกว่านั้นยังใช้คำว่า พหุธมฺมกายา คือ มี ธรรมกาย มาก ตรงกับคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำว่า ธรรมกาย ในตัวเรานั้นมีมากมาย ซึ่งท่านได้ให้รายละเอียดไว้เพียง ๑๐ เท่านั้น (ธรรมกายโคตรภู ธรรมกายพระโสดา ธรรมกายพระสกทาคา ธรรมกายพระอนาคา และธรรมกายพระอรหัต ทั้งหยาบและละเอียด)

ธรรมกาย คือ พระรัตนตรัย

รัตนตรัย คือ แก้ว ๓ ดวง

พระรัตนตรัย คือสิ่งที่พุทธศาสนิกชนบูชาสูงสุด พระรัตนตรัยตามนัยของพระปริยัติธรรมนั้น ประกอบด้วยพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ พระพุทธ หมายถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมหมาย ถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสงฆ์ หมายถึงพระอรหันตสาวกของพระพุทธองค์ แต่พระรัตนตรัย ตามนัยของธรรมปฏิบัตินั้น พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ อธิบายว่า พระรัตนตรัยประกอบด้วยพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ

พุทธรัตนะ คือ ธรรมกาย ธรรมรัตนะ คือ ธรรมทั้งหลายที่กลั่นจากหัวใจธรรมกาย สังฆรัตนะ คือ ดวงจิตของธรรมกาย

รัตนะทั้ง ๓ ประการนี้เกี่ยวเนื่องเป็นอันเดียวกัน จะพรากจากกันไม่ได้ ผู้ใดเข้าถึงพุทธรัตนะ ก็ได้ชื่อว่าเข้าถึงธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะด้วย กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้เข้าถึงธรรมกาย ย่อมได้ชื่อว่าเข้าถึงพระรัตนตรัย (จากมรดกธรรม หน้า ๔๒) ในพระธรรมเทศนาเรื่องรัตนสูตร ว่าด้วยพุทธรัตนะ

คำค้น
1
บทความอื่นๆในหมวดนี้