128 ปี พระมงคลเทพมุนี :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

128 ปี พระมงคลเทพมุนี

“...ธรรมกาย คือ กายแห่งการตรัสรู้ธรรมที่มีอยู่แล้ว ในศูนย์กลางกายของมนุษย์ทุกคน มีลักษณะคล้ายพระพุทธรูป ประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ เกศเป็นรูปดอกบัวตูม ใสสว่างเป็นแก้วตลอดทั้งองค์ ...”

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หรือ หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (หลวงพ่อวัดปากน้ำ) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ถือกำเนิดในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีนามเดิมว่า สด มีแก้วน้อย เกิดเมื่อวันศุกร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 11 ปีวอก ตรงกับวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2427 ณ ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

ในวัยเด็ก หลวงปู่ไปศึกษาเล่าเรียนที่วัดตามประเพณีของเด็กชายไทยในสมัยนั้น ท่านตั้งใจเรียนจนกระทั่งอ่านเขียนหนังสือไทยและขอมได้อย่างคล่องแคล่ว เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ก็กลับไปช่วยบิดาประกอบอาชีพค้าข้าว ต่อมา เมื่อท่านมีอายุได้ 14 ปีเศษ บิดาถึงแก่กรรม ท่านจึงต้องหาเลี้ยงครอบครัวเพราะเป็นบุตรชายคนโต ด้วยความขยันขันแข็งของท่าน กิจการค้าข้าวจึงเจริญขึ้นโดยลำดับ ทำให้ท่านเป็นผู้ที่มีฐานะดีคนหนึ่ง

ตั้งใจบวชตลอดชีวิต

เมื่อหลวงปู่อายุ 19 ปีเศษ ขณะเดินทางกลับจากค้าข้าว ผ่านคลองบางอีแท่น (ชื่อทางราชการ “คลองลัดบางแท่น” อยู่ในเขตอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม) ซึ่งเป็นคลองเปลี่ยวมีโจรผู้ร้ายชุกชุม ท่านเกิดธรรมสังเวชว่า “การหาเงินเลี้ยงชีพนั้นลำบาก บิดาของเราก็หามาอย่างนี้ ต่างไม่มีเวลาว่างกันทั้งนั้น ถ้าใครไม่รีบหาให้มั่งมีก็เป็นคนชั้นต่ำ ไม่มีใครนับหน้าถือตา เข้าหมู่เพื่อนบ้านก็อับอาย ไม่เทียมหน้าเขา บุรพชนต้นสกุลก็ทำมาอย่างนี้เหมือนกันจนถึงบิดาเรา และตัวเราในบัดนี้ก็คงทำอยู่อย่างนี้ ก็บัดนี้บุรพชนทั้งหลายได้ตายหมดแล้ว แม้เราก็จักตายเหมือนกัน” ท่านเกิดความสลดใจ รู้สึกอยากออกบวชแสวงหาหนทางพ้นทุกข์ จึงจุดธูปบูชาพระ แล้วอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เราตายเสียก่อน ขอให้บวชเสียก่อนเถิด ถ้าบวชแล้วจะไม่สึกจนตลอดชีวิต”

ต่อมา ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2449 หลวงปู่ (ขณะนั้นอายุ 22 ปี) ออกบวชที่วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ดังที่เคยตั้งจิตอธิษฐานไว้ หลังจากพำนักอยู่ที่วัดสองพี่น้องเป็นเวลา 7 เดือนเศษ ก็เดินทางไปจำพรรษาที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ท่านศึกษาค้นคว้าความรู้ในพระไตรปิฎกอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ เป็นเวลาถึง 11 พรรษา จนเชี่ยวชาญภาษาบาลี จากนั้นจึงทุ่มเทตั้งใจเรียนวิปัสสนาธุระให้ยิ่งๆขึ้นไป โดยขวนขวายไปศึกษาจากพระอาจารย์หลายท่าน ดังนี้ พระอาจารย์โหน่ง อินฺทสุวณฺโณ วัดสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี, หลวงปู่เนียม วัดน้อย จังหวัดสุพรรณบุรี, พระสังวรานุวงษ์ วัดราชสิทธาราม กรุงเทพฯ, พระครูญานวิรัติ (โป๊) วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพฯ, พระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำ ธนบุรี ซึ่งทุกท่านล้วนเป็นพระอาจารย์ที่ทรงคุณวิเศษในทางธรรมปฏิบัติ เป็นเยี่ยมในทางปริยัติ งามพร้อมทั้งศีลาจารวัตรและมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย

หลวงปู่ฝึกฝนธรรมปฏิบัติด้วยความตั้งใจจริง จนครูบาอาจารย์รับรองผลแห่งการปฏิบัติ และชักชวนให้อยู่ช่วยกันสอนผู้อื่นต่อไป แต่ท่านรู้สึกว่า ความรู้เท่านี้ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยตนเองให้พ้นทุกข์ จึงศึกษาวิธีปฏิบัติเพิ่มเติมจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งเป็นคัมภีร์แม่บทของการปฏิบัติธรรม

บรรลุธรรมกาย

ในปี พ.ศ.2460 ย่างเข้าพรรษาที่ 12 หลวงปู่เดินทางไปจำพรรษาที่วัดโบสถ์ (บน) ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ในวันเพ็ญเดือน 10 เวลาเช้าตรู่ก่อนออกบิณฑบาต ท่านระลึกขึ้นมาว่า “เราบวชมานานนับได้ 12 พรรษาแล้ว ยังไม่บรรลุธรรมของพระพุทธเจ้าเลย ทั้งที่การศึกษาของเราก็ไม่เคยขาดสักวัน เราควรจะรีบกระทำความเพียรให้รู้เห็นของจริงในพระพุทธศาสนา หากไม่เริ่มปฏิบัติ ก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ตกอยู่ในความประมาท”

หลังกลับจากบิณฑบาต และฉันภัตตาหารเช้าเรียบร้อยแล้ว ท่านจึงเดินเข้าไปปฏิบัติธรรมในพระอุโบสถ โดยตั้งปณิธานในใจว่า หากไม่ได้ยินกลองเพลจะไม่ลุกขึ้นจากที่ ท่านหลับตาภาวนา “สัมมา อะระหัง” จนกระทั่งใจหยุดเป็นจุดเดียวกัน เห็นเป็นดวงใสบริสุทธิ์ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย

ช่วงเย็น หลวงปู่เข้าไปในพระอุโบสถอีกครั้งเพื่อปรารภความเพียร ขณะนั้น ท่านมาหวนคิดถึงเมื่อครั้งอายุ 19 ปี ที่ปฏิญาณตนบวชจนตาย บัดนี้เวลาผ่านมาถึง 15 ปีแล้ว ก็ยังไม่ได้บรรลุธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้เห็นเลย จึงตั้งสัจจาธิษฐานทำสมาธิภาวนาอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันว่า “แม้เลือดเนื้อจะแห้งเหือดหายไป เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที ถ้านั่งลงไปแล้ว ไม่บรรลุธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงเห็น จะไม่ยอมลุกขึ้นจากที่จนตลอดชีวิต” ด้วยการทำความเพียรอย่างไม่อาลัยในชีวิต ท่านได้เข้าถึงพระธรรมกายกลางดึกคืนนั้น (ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 พุทธศักราช 2460)

คำว่า “ธรรมกาย” นี้ หลวงปู่มิได้บัญญัติขึ้นเอง ในพระไตรปิฎกก็มีคำนี้ และนานมาแล้วก็เคยมีการสอนวิธีปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระธรรมกายปรากฏอยู่ใน “หนังสือพุทธรังษีธฤษดีญาณ ว่าด้วยสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน 4 ยุค”

สำหรับความหมายของ “ธรรมกาย” นั้น หลวงปู่อธิบายไว้ว่า “ธรรมกาย” คือ กายแห่งการตรัสรู้ธรรมที่มีอยู่แล้วในศูนย์กลางกายของมนุษย์ทุกคน มีลักษณะคล้ายพระพุทธรูป ประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ เกศเป็นรูปดอกบัวตูม ใสสว่างเป็นแก้วตลอดทั้งองค์

ส่วน “วิชชาธรรมกาย” ที่หลวงปู่ค้นพบนั้น เกิดขึ้นหลังจากที่ท่านปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงพระธรรมกายแล้ว จากนั้นอาศัยธรรมจักษุของพระธรรมกายที่ท่านเข้าถึง ศึกษาค้นคว้าความรู้ในวิชชาธรรมกายต่อไป

วิชชาธรรมกายอันเป็นแก่นแท้ดั้งเดิมของพระพุทธศาสนาที่หลวงปู่ค้นพบนี้ เลือนหายไปนานเกือบ 2,000 ปีมาแล้ว การค้นพบวิชชาธรรมกายของหลวงปู่จึงเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ ที่ช่วยรื้อฟื้นคำสอนดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในด้านการปฏิบัติ ให้กลับคืนมาเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการจุดประกายให้พระพุทธศาสนาสว่างไสวโชติช่วงขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ได้จาริกไปสอนธรรมปฏิบัติในสถานที่ต่างๆอีกหลายแห่ง ซึ่งปรากฏว่า มีประชาชนสนใจมาฝึกปฏิบัติธรรมกับท่านเป็นจำนวนมาก และต่างได้รับผลดีตามกำลังแห่งการปฏิบัติของตน

เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

ต่อมา ในราวกลางปี พ.ศ.2461 หลวงปู่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ในฐานะเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ หลวงปู่ได้พากเพียรให้การศึกษาทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติแก่พระภิกษุ - สามเณร ซึ่งปรากฏว่าในด้านปริยัติ มีพระภิกษุ - สามเณรสอบนักธรรมและบาลีสนามหลวงได้นับร้อยรูป ในด้านการปฏิบัติ ทำให้พระภิกษุ - สามเณรจำนวนมากมีผลการปฏิบัติธรรมที่ดี นอกจากนี้ หลวงปู่ยังถวายภัตตาหารพระภิกษุ - สามเณรทุกวัน วันละประมาณ 500 รูป และด้วยความรักในพระพุทธศาสนา ท่านยังให้การสนับสนุนพระภิกษุ - สามเณรทั่วประเทศในด้านต่างๆเท่าที่จะทำได้ เช่น มีส่วนร่วมในการสร้างโรงพยาบาลสงฆ์ และมหาวิทยาลัยสงฆ์ ฯลฯ ซึ่งในสมัยนั้น นับว่ายากที่จะมีวัดใดสร้างคุณูปการแก่การคณะสงฆ์ได้มากเท่าวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

หลวงปู่ตั้งใจพัฒนาวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จนกระทั่งกลายเป็นพระอารามหลวงที่สำคัญและใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง มีพระภิกษุ - สามเณร และอุบาสก - อุบาสิกา รวมแล้วเป็นจำนวนนับพัน ทำให้วัดปากน้ำเจริญรุ่งเรืองมาจนกระทั่งปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม งานที่หลวงปู่ให้ความสำคัญและให้เวลามากที่สุดตลอดชีวิต คือ งานทำสมาธิเจริญภาวนา ซึ่งเป็นการทำงานทางใจที่มีเป้าหมายในการกำจัดกิเลสอาสวะที่เป็นสาเหตุแห่งความทุกข์และความเบียดเบียนให้หมดสิ้นไป ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงเปิดสอนธรรมปฏิบัติแก่พระภิกษุ - สามเณร, อุบาสก - อุบาสิกา รวมทั้งประชาชนทั่วไปอย่างจริงจัง และยังส่งพระภิกษุ - สามเณร รวมทั้งแม่ชี ออกไปเผยแผ่วิชชาธรรมกายในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศไทยและในต่างประเทศ ทำให้มีผู้ได้รับผลดีจาการปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก รวมแล้วเป็นเรือนแสน

ชาวต่างชาติเดินทางมาบวชที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

กิตติศัพท์ในด้านการสอนภาวนาของท่านโด่งดังข้ามทวีปไปยังหลายๆประเทศในยุโรป เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาขจรขจายออกไปอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของวงการคณะสงฆ์ไทย จนกระทั่งมีชาวต่างชาติบางคนเดินทางมาบวชกับท่านถึงวัดปากน้ำเลยทีเดียว

ในปี พ.ศ.2497 หลวงปู่เรียกประชุมศิษย์ทั้งหมด พร้อมทั้งปรารภว่า อีก 5 ปี ท่านจะมรณภาพ ขอให้ทุกคนช่วยกันเผยแผ่วิชชาธรรมกายไปทั่วโลก เพราะวิชชานี้เป็นแก่นแท้ของชีวิต สามารถช่วยมนุษย์ให้หลุดพ้นจากห้วงทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิด และนำพาสันติสุขมาสู่โลกได้อย่างแท้จริง

ต่อมาในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2502 หลวงปู่มรณภาพลงตรงตามเวลาที่ท่านเคยปรารภไว้ รวมอายุได้ 75 ปี รวมพรรษาได้ 53 พรรษา

128 ปี พระมงคลเทพมุนี

ขณะนี้ แม้หลวงปู่จะละสังขารไปเป็นเวลาถึงห้าสิบกว่าปีแล้วก็ตาม พระคุณของท่านและความดีงามของท่านยังคงอยู่ในใจของศิษยานุศิษย์ทั้งหลายตลอดมา หากว่าหลวงปู่ดำรงสังขารอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ก็จะมีอายุ 128 ปี ด้วยเหตุนี้ คณะศิษยานุศิษย์จึงพร้อมใจกันจัดพิธีบุญใหญ่ขึ้น ณ แผ่นดินเกิดของหลวงปู่ที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

อนุสรณ์สถาน มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี

ในวันที่ 10 ตุลาคม พุทธศักราช 2555 นี้ ตรงกับวันคล้ายวันเกิดด้วยรูปกายเนื้อของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) จึงขอเรียนเชิญศิษยานุศิษย์และสาธุชนทั้งหลาย เดินทางไปร่วมพิธีบุญใหญ่ ณ ทุ่งเฟื่องฟ้า อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งแต่เวลา 6.30 น. จะมีพิธีตักบาตรพระ 12,800 รูป และในวันนั้น ทุกท่านจะได้ร่วมสักการะรูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) มหาปูชนียาจารย์ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ณ อนุสรณ์สถาน มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี แผ่นดินเกิดของท่าน เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อพระคุณอันไม่มีประมาณของหลวงปู่วัดปากน้ำ และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

บูชาพระมงคลเทพมุนี

บทความที่เกี่ยวข้อง:

บทความอื่นๆในหมวดนี้