ชาวพุทธควรปฏิบัติตนอย่างไรในช่วงเข้าพรรษา :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

ชาวพุทธควรปฏิบัติตนอย่างไรในช่วงเข้าพรรษา

ชาวพุทธควรปฏิบัติตัวอย่างไรในช่วงเข้าพรรษา

ช่วงเข้าพรรษา พระเก่า พระใหม่ ต่างอยู่พร้อมหน้ากัน เมื่ออยู่พร้อมหน้ากันอย่างนี้ ก็เป็นโชคดีของญาติโยมที่เนื้อนาบุญอยู่กันพร้อมหน้า ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวดกันมา ญาติโยมจะไม่ปล่อยให้พระภิกษุเข้าพรรษาเพียงลำพัง แต่ก็จะพลอยเข้าพรรษาไปด้วยเหมือนกัน แต่การเข้าพรรษาของญาติโยมนั้น เข้าพรรษาด้วย “การอธิษฐานจิต”

หลักธรรมในพระพุทธศาสนา มีแม่บทไว้ชัดอยู่ 3 ประการ

  1. ละชั่ว
  2. ทำดี
  3. กลั่นใจให้ใส

เมื่อพระภิกษุอยู่จำพรรษา ท่านก็มีหน้าที่ของท่านในการประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมแม่บทดังกล่าวนี้ คำว่า “ละชั่ว” ของพระ ไม่ได้หมายถึงชั่วอย่างหยาบๆ แต่ว่า “ละชั่ว” ของพระภิกษุในที่นี้ หมายถึง “ละกิเลส” ซึ่งแม้พิจารณาโดยทางโลกแล้วดูไม่ออกว่าเป็นความชั่ว ความไม่ดี เช่น มีจิตใจฟุ้งซ่าน ความจริงก็อยู่ในใจของท่าน คนอื่นมองไม่เห็น แม้ถึงขนาดนั้น ท่านก็พยายามละความฟุ้งซ่านของท่านให้ได้ ด้วยการเจริญภาวนาหรือทำสมาธิให้ยิ่งๆขึ้นไป เป็นต้น ท่านก็ละกิเลสหรือละชั่วที่ละเอียดๆยิ่งๆขึ้นไป ให้สมภูมิแห่งความเป็นพระของท่าน คำว่า “ทำดี” ของพระ ท่านก็ทำให้ยิ่งๆขึ้นไปเช่นกัน ตัวอย่างเช่น เมื่ออยู่ที่วัด พระเก่าก็เทศน์อบรมให้พระใหม่, พระใหม่ก็ตั้งใจศึกษาเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความดีให้กับตัวของท่าน และ “กลั่นใจให้ใส” ไปพร้อมๆกันด้วยการตื่นแต่เช้ามืดเพื่อมาสวดมนต์ และทำสมาธิภาวนา เป็นต้น

สำหรับบรรดาญาติโยมทั้งหลาย นับแต่โบราณมา เมื่อถึงวันเข้าพรรษา บรรดาญาติโยมก็จะมีการอธิษฐานกันว่า พรรษานี้จะละความไม่ดีอะไรบ้าง ทั้งหยาบทั้งละเอียด พยายามละกันให้ได้ กล่าวคือ ทำตามพระภิกษุให้เต็มที่ในระดับของฆราวาส ตัวอย่างเช่น อธิษฐานจิตว่า “พรรษานี้ ในระยะเวลา 3 เดือนนี้ ที่รู้ว่าอะไรเป็นนิสัยที่ไม่ดีในตัวเองที่มีอยู่ (เลือกมาอย่างน้อย 1 ข้อ) เราจะแก้ไขตัวเองให้ได้” เช่น บางคนเคยดื่มเหล้า พอถึงวันเข้าพรรษาก็อธิษฐานว่า “เข้าพรรษานี้จะเลิกเหล้าให้เด็ดขาด” บางคนเคยสูบบุหรี่ พอถึงวันเข้าพรรษาก็อธิษฐานว่า “อย่างน้อยพรรษานี้จะเลิกบุหรี่ให้เด็ดขาด” เป็นต้น

สิ่งใดที่เป็นความดี ก็พยายามที่จะทำให้ยิ่งๆขึ้นไป ตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนนี้ ก่อนจะเข้าพรรษา ตักบาตรบ้าง ไม่ตักบาตรบ้าง หรือตักบาตรแค่ในวันเสาร์ – วันอาทิตย์ หรือวันโกน – วันพระ หรือวันไหนมีโอกาสก็ทำ วันไหนขี้เกียจก็ไม่ทำ ดังนั้น พรรษานี้ ตลอดระยะเวลา 3 เดือน เมื่อพระภิกษุอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาดีแล้ว ก็ตั้งใจที่จะตักบาตรให้ได้ทุกเช้า

ในช่วงเข้าพรรษา ชาวพุทธจะอธิษฐานจิต ละชั่ว ทำดีให้ยิ่งๆขึ้นไป

บางท่าน ยิ่งกว่านั้น ธรรมดาเคยถือศีล 5 เป็นปกติอยู่แล้ว พรรษานี้ก็อธิษฐานจิตที่จะถือศีล 8 ทุกวันพระ จากศีล 5 ยกขึ้นไปเป็นศีล 8, บางท่านเคยถืออุโบสถศีล เคยถือศีล 8 ทุกวันพระ เมื่อพรรษาที่แล้ว พรรษานี้ก็อธิษฐานจิตที่จะถืออุโบสถศีล ถือศีล 8 ทุกวันโกน – วันพระ เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 2 วัน, บางท่านยิ่งกว่านั้นขึ้นไปอีก พรรษานี้ก็อธิษฐานจิตที่จะถืออุโบสถศีล จะถือศีล 8 ตลอด 3 เดือนเลย ก็แล้วแต่ว่าใครมีกุศลจิตศรัทธามากเพียงไหน ก็ทำให้ยิ่งๆขึ้นไปตามนั้น บางท่าน ยิ่งกว่านั้นขึ้นไปอีก ถึงกับอธิษฐานเลยว่า พรรษานี้นอกจากจะถือศีล 8 ตลอดพรรษาแล้วยังไม่พอ แต่จะทำสมาธิทุกวันหรือทุกคืนก่อนนอน วันละ 1 ชั่วโมง หรือบางท่านเพิ่มเป็นคืนละ 2 ชั่วโมง หรือ 3 ชั่วโมง ก็ว่ากันไปตามกุศลศรัทธา นี้เป็นสิ่งที่ปู่ย่าตาทวดของเราทำกันมา

ในช่วงเข้าพรรษา ชาวพุทธจะอธิษฐานจิต ละชั่ว ทำดีให้ยิ่งๆขึ้นไป

แต่ที่อยากจะฝาก คือ เนื่องจากในปัจจุบันนี้สังคมเปลี่ยนไป ญาติโยมส่วนมากหยุดงานกันในวันเสาร์ – วันอาทิตย์ แต่เดิมพระภิกษุจะเทศน์กันในวันโกน – วันพระ เป็นหลัก เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเหลือแต่เพียงคนเฒ่าคนแก่เท่านั้นที่ไปฟังเทศน์ในวันโกน – วันพระ แต่ในเวลานี้ เมื่อเข้าพรรษา ขอฝากหลวงพ่อ หลวงพี่ ด้วยว่า ถ้าจะเพิ่มวันเทศน์วันสอนธรรมะให้กับประชาชนในวันเสาร์ – วันอาทิตย์ ซึ่งญาติโยมต่างหยุดงานกัน อีกสักวันสองวันก็จะเป็นการดี และสำหรับญาติโยมเมื่อรู้ว่าครั้งนี้เข้าพรรษา พระภิกษุได้เทศน์ได้สอนในวันเสาร์ – วันอาทิตย์ เพิ่มให้ด้วย ก็อย่าลืมพากันไปฟังท่านเทศน์ ถ้าขยันกันอย่างนี้ มีแต่บุญกุศลตลอดทั้งพรรษา แล้วความเจริญรุ่งเรืองทั้งของตนเอง ทั้งของพระพุทธศาสนา ทั้งของประเทศของเรา ก็จะบังเกิดขึ้นตลอดปีตลอดไป

อ้างอิง:

  • เรียบเรียงจาก รายการหลวงพ่อตอบปัญหา (ออกอากาศทาง DMC)
  • พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อทัตตชีโว รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย

บทความที่เกี่ยวข้อง:

บทความอื่นๆในหมวดนี้