วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี

วัดพระธรรมกาย คือ สถานที่สำคัญ 1 ใน 6 แห่งที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย พระผู้ปราบมาร บนเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ ณ ที่แห่งนี้ คือ สถานที่สานต่อมโนปณิธานของท่าน ที่จะเผยแผ่วิชชาธรรมกายไปทั่วโลก วัดพระธรรมกายในวันนี้ ได้ผ่านวันเวลาอันยาวนานมาถึง 4 ทศวรรษ โดยมุ่งมั่นในภารกิจเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย เพื่อสันติสุขแก่มวลมนุษยชาติตลอดมา ย้อนไปในวันวาน ผืนดินที่ก่อตั้งวัดพระธรรมกายเป็นเพียงท้องนากว้างไกลสุดตา ระยิบระยับด้วยเปลวแดด ปราศจากต้นไม้น้อยใหญ่และถาวรวัตถุใดๆ ในยามค่ำคืนมีเพียงดาวพราวแสงเต็มผืนฟ้า ในวันมาฆบูชาที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2513 หมู่คณะผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ประกอบด้วยพระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) ซึ่งขณะนั้นเพิ่งบวชได้เพียง 1 พรรษา คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง (อายุ 61 ปี) และศิษยานุศิษย์ ได้ร่วมแรงร่วมใจกันขุดดินก้อนแรก ก่อสร้างศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรมขึ้นบนแผ่นดินที่ได้รับบริจาคจากคุณหญิงประหยัด แพทยพงศาวิสุทธาธิบดี จำนวน 196 ไร่ (ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรมได้รับวิสุงคามสีมา และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดพระธรรมกาย” เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2524)

ขณะเริ่มก่อสร้างวัด คุณยายอาจารย์ฯมีเงินทุนเริ่มแรกเพียง 3,200 บาท ซึ่งแทบไม่ต่างอะไรกับการสร้างวัดด้วยมือเปล่า ครั้งนั้นมีลูกศิษย์ถามท่านว่า “เรามีเงินทุนอยู่เพียงเท่านี้ จะสร้างวัดสำเร็จได้อย่างไร” คุณยายอาจารย์ฯถามกลับไปว่า “ถ้าเราจะสร้างคนให้เป็นคนดี มีศีลธรรม ยอมอุทิศชีวิตให้พระศาสนาขึ้นมาสักคนหนึ่ง จะต้องใช้เงินสักเท่าไร” ศิษย์คนนั้นตอบว่า “หมดเงินไปเป็นร้อยล้าน ก็ยังไม่แน่ว่าจะสร้างขึ้นมาได้สักคน” คุณยายอาจารย์ฯจึงพูดว่า “ตอนนี้ยายมีคนดีๆอย่างพวกคุณมานั่งอยู่ตรงหน้านี้แล้วตั้ง 11 คน แสดงว่ายายมีทุนอยู่แล้วไม่น้อยกว่าพันล้าน ยายต้องสร้างสำเร็จแน่”

เมื่อมีทั้งที่ดินและหมู่คณะที่พร้อมจะทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว การหาทุนสร้างวัดก็เริ่มขึ้น โดยการช่วยกันเขียนหนังสือตามหาผู้ที่เคยทำบุญร่วมกันมาในอดีตชาติให้ได้มาสร้างบุญร่วมกันอีกในชาตินี้ และอธิษฐานให้ผู้มีบุญเหล่านั้นมีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้ ซึ่งมีชื่อว่า “เดินไปสู่ความสุข” หลังจากหนังสือเล่มนี้เผยแพร่ออกไป ก็เริ่มมีสาธุชนเดินทางไปร่วมทำบุญสร้างวัด บางท่านก็ส่งเงินไปทำบุญทางไปรษณีย์ จนกระทั่งพอมีทุนดำเนินการก่อสร้างวัด อาคารหลังแรกของวัดพระธรรมกาย คือ “ศาลาจาตุมหาราชิกา” สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2518 เพื่อเป็นที่แสดงพระธรรมเทศนาแก่ญาติโยมที่มาทำบุญในวันอาทิตย์ ส่วนของหลังคาใช้โครงสร้างเหล็กแทนไม้ เพื่อความคงทนแข็งแรง และออกแบบไม่ให้มีเสากลาง ทำให้พระภิกษุผู้แสดงธรรมและสาธุชนทุกคนสามารถมองเห็นกันได้ชัดเจนโดยไม่ต้องมีเสากลางมาบดบัง และยังช่วยเพิ่มพื้นที่นั่งทำให้ศาลาจาตุมหาราชิการองรับคนได้ถึง 500 คน เมื่อแรกสร้างมีเสียงติติงว่า “วัดพระธรรมกายอยู่ห่างไกล สร้างศาลาใหญ่ขนาดนี้จะมีใครไปใช้” แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่กี่ปี ปรากฏว่ามีสาธุชนไปวัดมากขึ้นจนล้นศาลา ต้องสร้างศาลาหลังใหม่

 

 

พระอุโบสถวัดพระธรรมกาย เริ่มก่อสร้างเมื่อปลายปี พ.ศ.2520 โดยเมื่อวันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2520 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จแทนพระองค์ เพื่อทรงวางศิลาฤกษ์ และในวันอังคารที่ 29 เมษายน พ.ศ.2523 มีพิธีผูกพัทธสีมา พระอุโบสถสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2525 สถาปัตยกรรมเป็นแบบไทยประยุกต์ โดยมีวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหารเป็นต้นแบบ การออกแบบยึดหลักความแข็งแรง คงทน เรียบง่าย แต่สง่างาม มีช่อฟ้าคู่ หลังคาโค้งรับกับขอบฟ้า ด้านหลังพระอุโบสถจารึกข้อความเกี่ยวกับการสร้างพระอุโบสถไว้บนแผ่นหินอ่อน การก่อสร้างทำด้วยความละเอียดประณีต วัสดุอุปกรณ์ทุกชนิดคัดเลือกแต่สิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ในสมัยนั้น ดังเช่น หินเกล็ดที่ประดับผนังโบสถ์ภายนอก ต้องคัดเลือกหินทีละเม็ด เลือกเฉพาะเม็ดที่มีสีขาวบริสุทธิ์เท่านั้น ภายในพระอุโบสถรองรับพระภิกษุเข้าร่วมประกอบสังฆกรรมพร้อมกันได้ครั้งละ 200 รูป พระประธานเป็นพระพุทธรูปที่จำลองมาจากลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ ตรงตามพระไตรปิฎกและหนังสือลักษณะมหาบุรุษ ซึ่งหากใครประพฤติปฏิบัติธรรมมากขึ้น ก็จะพบพระพุทธรูปลักษณะเช่นนี้อยู่ในศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ของตนเอง

พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) คุณยายอาจารย์ฯ และศิษยานุศิษย์ ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดพระธรรมกายขึ้นภายใต้แนวคิด “สร้างวัดให้เป็นวัด สร้างพระให้เป็นพระแท้ และสร้างคนให้เป็นคนดี” ตามหลักปฏิรูปเทส 4 ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อสร้างวัดคุณภาพ จะได้จูงใจคนให้อยากเข้าวัดปฏิบัติธรรม ซึ่งจะเกิดผลดีทั้งแก่ส่วนตน ส่วนรวม และเป็นผลดีต่อความเจริญรุ่งเรืองของพระศาสนา

ปฏิรูปเทส 4 ประกอบด้วย

  1. อาวาสเป็นที่สบาย คือ การปรับปรุงพื้นที่ภายในวัดให้สวยงาม ร่มรื่น ดูแลวัดให้สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย ใครเห็นก็รู้สึกสบายใจ
  2. อาหารเป็นที่สบาย คือ การตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารญาติโยมที่มาวัดอย่างเท่าเทียมกันทุกคน บริการให้ความสะดวก โดยไม่ให้ญาติโยมเกิดความกังวล รวมทั้งดูแลเอาใจใส่ภัตตาหารที่ญาติโยมนำมาถวายพระ และให้ความเคารพในทานของญาติโยม
  3. บุคคลเป็นที่สบาย คือ อบรมบุคลากรในวัดให้ดี ให้อ่อนน้อมถ่อมตน มีกิริยามารยาทเรียบร้อย มีอัธยาศัยไมตรีที่ดีงาม หมั่นศึกษาธรรมะปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาอย่างสม่ำเสมอ เป็นแบบอย่างที่ดี สร้างความประทับใจแก่สาธุชน
  4. ธรรมะเป็นที่สบาย คือ เมื่อสาธุชนมาวัดแล้ว จะไม่ให้กลับบ้านมือเปล่า ต้องได้รู้ธรรมะและได้ข้อคิดกลับไปใช้ในชีวิตประจำวัน

เพื่อรองรับงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ไปทั่วโลก วัดพระธรรมกายได้พัฒนาและขยายใหญ่ขึ้นไปเป็นลำดับ จนในปัจจุบัน วัดพระธรรมกายมีเนื้อที่กว่า 2,000 ไร่ สามารถรองรับสาธุชนได้นับแสนคน มีถาวรวัตถุเพื่องานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นอีกมากมาย อาทิ มหารัตนวิหารคด, สภาธรรมกายสากล, มหาธรรมกายเจดีย์ และที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ คือ อาคาร 100 ปีคุณยายอาจารย์ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ไปทั่วโลก

 

 

สานต่อมโนปณิธาน พระผู้ปราบมาร

ประมาณปี พ.ศ.2497 ห้าปีก่อนที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) จะมรณภาพ คราวนั้นท่านเรียกประชุมลูกศิษย์ทั้งหมด ทั้งในวัดและนอกวัด เพื่อประกาศให้ทุกคนรับรู้ว่า อีกห้าปี ท่านจะมรณภาพ ให้ลูกๆช่วยกันเผยแผ่วิชชาธรรมกายไปทั่วโลก เพระสำคัญและมีประโยชน์มาก วิชชานี้ช่วยคนได้ทั้งโลก และสั่งไม่ให้คุณยายอาจารย์ฯ1 ไปไหน ให้อยู่ที่วัดปากน้ำ รอผู้ที่จะมาสืบทอดวิชชาธรรมกายในวันข้างหน้าต่อไป ห้าปีต่อมา พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯอาพาธหนัก บรรดาพระภิกษุต่างห้อมล้อมท่านเต็มไปหมด คุณยายอาจารย์ฯไม่สามารถขึ้นไปเยี่ยมท่านได้ ได้แต่สังเกตคอยฟังข่าวอยู่ห่างๆ เพราะวินัยความเป็นอยู่ที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯเข้มงวดตลอดมานั้น ทำให้แม่ชีต้องสำรวมระวังตัวเองให้อยู่ห่างๆพระภิกษุ จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯก็มรณภาพ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2502 เวลาบ่ายสามโมงเศษ หลังจากพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯมรณภาพแล้ว บรรดาลูกศิษย์นักทำวิชชาทั้งหลายต่างแยกย้ายกันไปคนละทิศละทาง บางคนก็ไปอยู่ที่อื่น บางคนก็ยังปักหลักสอนธรรมปฏิบัติอยู่ตามกุฏิหรือตามบ้านของแต่ละคนในบริเวณวัดปากน้ำ ส่วนคุณยายอาจารย์ฯไม่ได้ย้ายไปไหน ท่านมีความกตัญญูกตเวทีอยู่คอยปรนนิบัติช่วยเหลือดูแลคุณยายทองสุก2 ผู้เป็นครูสอนธรรมะให้กับท่านเป็นคนแรกที่บ้าน 3 ชั้น3 ซึ่งอยู่ในบริเวณวัดปากน้ำ ในราวปี พ.ศ.2503 คุณยายทองสุกล้มป่วยลงด้วยโรคมะเร็งที่มดลูก ท่านเข้าออกรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราชอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งอาการหนัก หมดทางรักษาแล้ว จึงได้กลับมานอนรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ในระหว่างนั้น คุณยายอาจารย์ฯได้ดูแลอย่างใกล้ชิด จนในที่สุดคุณยายทองสุกก็ละจากโลกนี้ไปด้วยอาการสงบ คุณยายอาจารย์ฯหวนระลึกถึงคำสั่งของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯที่ให้เผยแผ่วิชชาธรรมกายไปทั่วโลก ท่านก็ทำตามมโนปณิธานนั้น ทำหน้าที่สอนสมาธิ เผยแผ่วิชชาธรรมกาย และรอคอยผู้ที่จะมาทำหน้าที่สืบทอด ตามที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯได้สั่งไว้

 

 

ความหวังของคุณยายอาจารย์ฯดูเหมือนจะเป็นจริงขึ้นมา เมื่อท่านได้พบกับนิสิตหนุ่มคนหนึ่งที่สนใจมาขอเรียนธรรมปฏิบัติกับท่าน และมีผลการปฏิบัติธรรมดีเยี่ยมในเวลาอันรวดเร็ว เป็นผลทำให้คุณยายอาจารย์ฯมั่นใจว่า นิสิตคนนี้ คือ ผู้ที่จะมาสืบทอดงานของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯให้สำเร็จลุล่วงได้ ต่อมา นิสิตผู้นั้นได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ มีฉายาว่า “ธัมมชโย” นับแต่นั้นมา พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย4 ได้อบรมสั่งสอนธรรมปฏิบัติแก่สาธุชนที่บ้านธรรมประสิทธิ์ ในเขตวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยมีผู้สนใจมาปฏิบัติธรรมกับท่านอย่างมากมาย ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) ได้สอนการฝึกสมาธิแนววิชชาธรรมกาย ตามที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้ค้นพบ จนมีผู้เข้าถึงความสุขภายในจากการทำใจหยุดใจนิ่งเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่พระภิกษุ, สามเณร, อุบาสก, อุบาสิกา ไปจนถึงสาธุชนทั้งหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลายท่านมีผลการปฏิบัติธรรมที่ดีเยี่ยม มีโอกาสได้ศึกษาค้นคว้าวิชชาธรรมกายที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งๆขึ้นไป พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) ได้อุทิศชีวิตสานต่อมโนปณิธานของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) และคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ไปทั่วโลก เพื่อให้สันติสุขที่แท้จริงบังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้

  • 1 คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในการศึกษาวิชชาธรรมกาย ชั้นสูง ท่านเคยได้รับคำชมจากพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯว่า “ลูกจันทร์นี้…หนึ่งไม่มีสอง”
  • 2 มหารัตนอุบาสิกาทองสุก สำแดงปั้น
  • 3 หมายถึงบ้านที่มี 3 ชั้น ชั้นล่างนั่งได้แต่ยืนไม่ได้ ชั้นที่ 2 คือ ชั้นที่คุณยายอาจารย์ฯอาศัยอยู่ ชั้นที่ 3 สูงกว่าชั้นที่ 2 ราว 1 เมตร
  • 4 วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2554 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ “พระเทพญาณมหามุนี”

อ้างอิง:

  • หนังสือ “รู้จักวัดพระธรรมกาย”
  • หนังสือ “คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย”

บทความที่เกี่ยวข้อง: